18 พฤศจิกายน 2555

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน ตำราต้นไข้



ตำราต้นไข้
ทีนี้จะกล่าวถึงเมืองตักสินลา ข้าจักไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธิเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนากับพระอินศวรผู้เปนเจ้าฟ้าแลเจ้าเผ่นดิน ตรัสว่าในโลกานี้เสวยทุกขเวทนา เมื่อพระตถาคตเข้าสู่พระนิพพานไปแล้วนั้นได้ ๗ วัน จักบังเกิดพระอาทิตย์ขึ้น ๗ ดวง ฝูงสัตว์ทั้งปวงจะร้อนหนักหนา

ครานั้นสมเด็จพระอินศวรผู้เปนเจ้า จึ่งเสด็จลงมาป่าวร้องว่าชาวเราเอ๋ย ไภยจักมาถึงตัวให้เร่งจำศีลภาวนาเถิด จักได้ไปสู่พระนิพพาน ยังอยู่อีก ๗ วัน ไฟบัลัยกัลป์ก็จะไหม้พระสุทธามอดม้วยมรณา ก็จักได้ไปเกิดในพระมหานิพพาน

ไฟบัลลัยกัลป์จักไหม้พระสุทธาก็จักเปนน้ำทะเลหลวง เมื่อจะตั้งพระสุทธานั้นพลันมีดอกบัวผุดขึ้นเท่ากงเกวียน กลีบข้าบูรพาเขียว กลีบข้างอุดรแดง กลีบข้างทักษิณขาว จึ่งเปนหลักโลกทั้งปวง แล้วบังเกิดเปนพระสุทธาใหญ่หลวงมหิมา จึ่งเปนเกาะจึ่งมีพฤกษาจึ่งเกิดเปนข้าวสาลีขึ้นมา หอมฟุ้งขจรขึ้นไปถึงพรหมโลก

ยังมีพระพรหมกลุ่มหนึ่งรัศมีดังพระอาทิตย์เสด็จลงมาถึงพระสุทธา พากันกินนวลดินนั้น บ่ได้รู้ว่าหญิงหรือชาย ยังเหลือยู่คนหนึ่ง ครั้นนานมาเกิดลูกหญิงชายมากมาย จึ่งได้เปนเมืองหลวง ตั้งรั้ววังเรียงรายกว้างใหญ่ออกไปฯ

จักกล่าวถึงท้าวนเรนทร์สูรย์ผู้เปนใหญ่ จึ่งใช้ให้กบิลยักษ์ไปป่าหิมพานต์ ตั้งพิธีหุงยาราชวัตรเบ็ญจา
วันอาทิตย์ หุงเปนเทวดาถือพระขรรค์ฯ
วันจันทร์ หุงให้เปนราชสีห์ฤทธิกล้าฯ
วันอังคาร หุงเปนนาคราชพ่นพิษมนุษย์ฯ
วันพุฒ หุงให้เปนราหูถือกระบองเหล็กเท่าต้นตาลฟันฟาดฯ
วันพฤหัศบดี หุงเปนนาคาทุกข์ฯ
วันศุกร์ หุงเปนเสือโคร่งใหญ่ฯ
วันเสาร์ หุงให้เปนเทวดาเดินหนถือดอกบัวปนขาวเขียวฯ

ครั้นหุงเสร็จแล้ว กบิลยักษ์ใจแกล้วจึ่งเหาะเข้าไปหาท้าวนเรนทร์ศูรย์ผู้เปนนาย เอายามาถวายแล้วจึ่งเล่าอนุสนธิต้นปลายให้ฟัง ท้าวนเรนทร์สูรย์ผู้เปนนายก็ดีใจนัก ว่าครานี้กูจักสมปรารถนา จึ่งใช้ให้ไปเรียกกันมา ครั้นมาถึงกันแล้วจึ่งส่งห่อยาให้บัลลัยกัลปเที่ยวไปทุกชมพู

จึ่งหว่านห่อยาลงทิศอิสาน เปนเทวดาเดินหน เปนไข้สาริบาตกุมภัณฑ์ฯ
หว่านทิศบูรพา เปนพระยานาคเติบใหญ่ เปนไข้เหนือประดุจดั่งผีเข้าให้คลุ้มคลั่งในใจฯ
หว่านอาคเนย์ เปนหลาวเหล็ก เปนไข้เหนือ ตาเหลือง รากสาด กุมภัณฑ์สองจำพวกฯ
หว่านทิศทักษิณ เปนเสือโคร่งใหญ่ เปนไข้เหนือ ๓ วันตายฯ
หว่านทิศปัจจิม เปนราหูใหญ่โต เปนไข้สาริบาตลิง นอนชักกลิ้งไปฯ
หว่านทิศพายัพ เปนราชสีห์กล้าหาญ เปนไข้มะเร็งบ้าหมู ให้บวมทั้งตัวฯ
หว่านทิศอุดร เปนเทวดาถือดอกบัว เปนไข้สาริบาตบ้าคลั่ง ว่านั่นว่านี่ เหมือนผีเข้าอยู่ฯ

จบตำราต้นไข้แต่เพียงนี้

ธีรพร  เพชรกำแพง
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
(คัดจากตำราลายมือพ่อแก่กำไร)

11 พฤศจิกายน 2555

โองการไหว้ครู..(เรียกครูเข้าตัว)



 
โองการไหว้ครู

กัลยาณมิตรอันเป็นที่รัก ในครั้งนี้มีโอกาสได้กล่าวถึงพระคาถาหนึ่งซึ่งครูบาอาจารย์ท่านได้ให้ไว้ นั้นคือ โองการไหว้ครู หรือบ้างก็ว่า โองการเรียกครูเข้าตัว โองการเชิญครู โองการบูชาครู อย่างนี้ โดยท่านมุ่งสร้างกุศโลบายศรัทธาสำคัญแห่งจิตให้มีพละกำลังใจมั่นคง แกล้วกล้าเป็นที่สามารถ ในการประกอบกิจทางอาถรรพเวทย์ใดๆทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการว่าพระมนต์ดลพระคาถา ดูดวงฤกษ์ยามโหรา ลงอักขระสักเสกเลขยันต์ ฯลฯ ต่างๆให้ประสิทธิเป็นที่สำเร็จเป็นอันดี ซึ่งพระคาถาโองการที่ว่านี้ก็มีหลายบทหลายตอนมากรูปแบบ แล้วแต่ท่านจัดแต่งขึ้นไว้อย่างไร แต่วัตถุประสงค์ก็อย่างที่ได้เกริ่นไว้แล้วนั้นเอง ในที่นี้จะหยิบยกโองการไหว้ครู หรือที่ฉันมักเรียกว่า โองการเรียครูเข้าตัว ในแบบฉบับที่ฉันใช้มาเป็นตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้


โองการไหว้ครู(เรียกครูเข้าตัว)
         
พึงว่า นะโม ขึ้นไว้ ๓ จบ แล้วพึงว่าพระคาถาโองการ ดังนี้

โอม สิทธิการ ข้าฯจะไหว้ครูอาจารย์ทั้งปวง ข้าฯจะไหว้ครูผู้เฒ่า บรมครูปู่เจ้าสมิงพราย ครูกูคนหนึ่งชื่อว่าฤๅษีนารอท ครูกูคนหนึ่งชื่อว่าฤๅษียอดฟ้าเธอได้เรียนมาทั่วไตรภพ ครูกูคนหนึ่งชื่อว่าฤๅษีกัสสปเธอได้เรียนมาจบทั่วแดนไตร ครูกูคนหนึ่งชื่อว่าฤๅษีตาไฟ เธอจึงเอาใบไม้เข้ามากวาด ทั้งฝูงผีปีศาจก็แล่นลงใต้สมุทรบาดาล เดชะครูอาจารย์ให้กรรมสิทธิ์แก่กู สวาหะฯ

เมื่อจิตเปี่ยมไปด้วยความแกล้วกล้าฮึกเหิมหาญทะนงที่เรียกว่าเกิดปีติเป็นแม่นมั่นอันดีแล้ว พึงอธิษฐานให้กิจที่เราจะประกอบนั้นบังเกิดความสำเร็จในขณะที่จิตเป็นอุปจารฌานแล้วว่า ขอกิจใดๆสรรพทุกประการจงประสิทธิสำเร็จดังเจตนาเถิด จากนั้นพึงลำดับต่อจากอุปจารฌานจนถึงองค์ฌานที่ตนได้(อัปปนาสมาธิ) จากปฐมฌานจนถึงจตุถฌาน  แล้วลำดับคลายองค์ฌานไล่ถอยหลังมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ จากนั้นจึงอธิษฐานในกิจนั้นซ้ำอีกครั้ง ขอกิจใดๆสรรพทุกประการจงประสิทธิสำเร็จดังเจตนาเถิด แล้วจึงประกอบการในกิจที่ตนปรารถนานั้นจักมีความประสบผลสำเร็จในกิจเพราะจิตมีอำนาจฤทธิ์พละกำลังมั่นคงเป็นอันดีควรแก่การที่จะกระทำแล้ว พร้อมด้วยอำนาจทิพยญาณจากครูบาอาจารย์ทีท่านจัดแต่งไว้รวมถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลายแห่งตนได้ร่วมดลผลสรรพสิทธิหนุนนำดีแล้วทุกประการนั้นเอง

ธีรพร  เพชรกำแพง
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

10 พฤศจิกายน 2555

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน ตำราเถรสามทอง




ตำราเถรสามทอง
กัลยาณมิตรอันเป็นที่รัก พูดถึงตำราเถรสามทองนี้ ทำให้นึกถึงการท่องจำเล่นๆตอนเป็นเด็กสมัยก่อน ว่าเป็นคำคล้องจองเชื่อมโยงกันดี และมีความหมายเชิงพยากรณ์ ที่ท่านใช้ประดุจกาลชะตาทำนายเรื่องดีร้ายในสมัยก่อน ซึ่งคนในสมัยเก่าก่อนนี้เวลาเข้ามาถามหมอดูมีเรื่องร้อนมาไม่กี่ประเด็น คือ ข้าวของคนวัวควายหายจะได้คืนไหม? คนเจ็บคนไข้จะเป็นอย่างไร? คนที่อยู่ทางไกลเป็นตายร้ายดีอย่างไร? ก็ถามอยู่ในวงแคบๆแต่ก็ด้วยความรุ่มร้อนอยากทราบเป็นทุนจึงมาหา ท่านก็เอา ตำราเถรสามทอง นี้เองขึ้นมาตอบ โดยพิจารณาจากดิถีชาวบ้านตามปฏิทิน(สมัยก่อนว่าปักกะทิน) ว่าวันนี้จะขึ้นแรมอย่างไรก็ช่าง ดูว่ากี่ค่ำ ตกคำพยากรณ์ตัวไหน ท่านก็ตอบตามฝอยพยากรณ์ ชนิดถามมาตอบไปกะทัดรัดชัดเจนในใจความไม่ต้องถามต่อ ถามต่อทั้งคนถามคนตอบนิวรณ์มันจะครอบงำให้วิจิกิจฉา คือลังเลสงสัย ทีนี้ความแม่นยำก็จะไม่บังเกิด อย่าเตลิด..ถามมาตอบไป ไม่ต่อไต่ ถ้าเขาเป็นฝ่ายต่อไต่เราก็เงียบเอาเชิงเสียไว้แค่นั้น สมัยเป็นเด็กวิ่งเล่นไปก็ท่องไปด้วย..สนุกปากดี สักสามวันโดนดุโดนตี บอกไม่ใช่ของเล่น ไว้ท่องตอนไหว้พระ ท่านว่าอย่างนั้น ฉันหรือก็มาคิดว่า สามวันแรกที่ไม่ดุไม่ตีตอนเราเล่นด้วยท่องด้วย นี่คงประสงค์ให้เราจำได้คล่องท่องขึ้นใจ จากนั้นแล้วที่ตีนี่คือไม่ต้องการให้เห็นวิชาเป็นของเล่นไป ก็ปฏิบัติตามท่าน โดยบทท่องคล้องจองที่ว่านั้นเป็นดังนี้

กระทุงนา กระทาโยง โพรงนกกระสา กระต่ายเล่นเท้า กระเป๋าหล่นผลุง ตะกะนุงตะกะนัง กระตรากระตรำ พระยาคำ หวายน้ำลอยมา นกกระทาตีปลัก ยักหัวสูงคันนา ศาลาคนชุม จมดุมจมคำ ศาลาคร่าคร่ำ ยักขะมำป่าไป
          จากนั้นพอจำหัวจำหลักได้ก็จะนึกถึงคำพยากรณ์ได้ โดยคำพยากรณ์มีฝอยอยู่อย่างนี้

สิทธิการิยะ บัดนี้จะกล่าวถึงยาม เถรสามทอง เดือนขึ้นเดือนแรมท่านทายเหมือนกันแลฯ
ค่ำ ๑ กระทุงนา บอกข่าวตายอย่าฟัง ข่าวไข้ว่าหามิได้ ถ้าของหายทายว่ามิได้เลยฯ
๒ ค่ำ กระทาโยง บอกข่าวไข้แลตายอย่าฟัง ถ้าแลว่าของหายทายว่ามิได้เลยฯ
๓ ค่ำ โพรงนกกระสา บอกข่าวตายว่าจริง ถ้าไข้ว่าหนัก ถ้าของหายว่าได้ ของนั้นอยู่รูโพรงไม้ฯ
๔ ค่ำ กระต่ายเล่นเท้า บอกข่าวตายว่าจริง ถ้าไข้ว่าหนัก ถ้าของหายว่าได้มิได้เท่ากันแลฯ
๕ ค่ำ กระเป๋าหล่นผลุง บอกข่าวตายว่าจริง ถ้าไข้ว่าหนัก ถ้าของหายว่าจักได้ฯ
๖ ค่ำ ตะกะนุงตะกะนัง บอกข่าวตายว่ามิตาย ถ้าเจ็บไข้ว่าหนัก ถ้าของหายว่าจักได้แลฯ
๗ ค่ำ กระตรากระตรำ บอกข่าวว่าตายลำบาก ถ้าไข้ว่าหาย ถ้าของหายว่าอยู่ รีบนำหา ได้มิได้เท่ากันแลฯ
๘ ค่ำ พระยาคำ ถ้าข่าวไข้ข่าวตาย ว่าหามิได้ ถ้าของหายว่าจะได้ของแลฯ
๙ ค่ำ หวายน้ำลอยมา บอกข่าวตายว่ามิตาย ถ้าไข้ประดักประเดิด ถ้าของหายจะได้ง่ายแลฯ
๑๐ ค่ำ นกกระทาตีปลัก ข่าวตายว่าตายมิตายเท่ากัน ถ้าของหายว่ามิได้แลฯ
๑๑ ค่ำ ยักหัวสูงคันนา ถ้าข่าวตายว่ามิตายแต่ลำบาก ไข้ว่าหาไม่ ถ้าของหายว่าจักได้ จะมีที่อยู่แลฯ
๑๒ ค่ำ ศาลาคนชุม บอกข่าวตายแลว่าไข้ว่ามิได้  ถ้าของหายว่าจะได้แลฯ
๑๓ ค่ำ จมดุมจมกำ บอกข่าวตายว่าตาย ถ้าไข้หนักถ้าของหาย ว่าค้นว่ามิได้เลยแลฯ
๑๔ ค่ำ ศาลาคร่าคร่ำ ข่าวตายจริง ไข้ว่าไข้หนัก ถ้าของหายว่าจะได้ทั้งยากแลฯ
๑๕ ค่ำ ยักขะมำป่าไป บอกข่าวตายว่าจริง ถ้าไข้หนักถ้าของหายว่ามิได้เลยฯ

          อย่างนี้ท่านก็ย้ำไว้เสมอ เข้าไต้เข้าไฟท่านว่าใช้ดี ประเสริฐนัก วิชาดีอยู่ที่คนใช้เป็น แต่ถ้านำมาใช้เล่น(คำว่าใช้เล่นนี่คือใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์)วิชาก็ย่อมไม่เป็นผล ท่านจึงสอนให้เคารพในวิชานัก คำว่า สิทธิการิยะ ศักดิ์สิทธิ์ได้ก็ด้วยเหตุอย่างนี้ มิใช่หาความหมายมิได้ดังที่คนยุคใหม่เขาปรามาสกัน

ธีรพร  เพชรกำแพง
๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
(คัดวิชาจากตำราลายมือพ่อทวด)

ทักษาพยากรณ์วารกำเนิด ตอน คนที่เกิดวันเสาร์



7.คนที่เกิดวันเสาร์

สำนวนเดิมท่านว่า
พระ ๗ เป็นบริวาร มีลูกเมียข้าคนมักสอนยาก ศัตรูใจร้าย
พระ ๕ เป็นอายุ มีอายุยืนกว่าญาติพี่น้อง จะมีทรัพย์สมบัติมาก
พระ ๘ เป็นเดช มีเดชดั่งพระยาครุฑ
พระ ๖ เป็นศรี จะมีทรัพย์สมบัติปัญญาดีคสามรู้มาก
พระ ๑ เป็นมูละ จะมีรูปงาม สีเนื้อดำแดง เป็นที่ชอบใจคนทั้งหลาย
พระ ๒ เป็นอุตสาหะ จะมีความรู้ ทำการอันใดมักนาน ชอบใจคนทั้งหลาย
พระ ๓ เป็นมนตรี มีข้าไทสั่งสอนยาก มักเป็นศัตรู
พระ ๔ เป็นกาลี มักจ่ายทรัพย์ ทรัพย์นั้นเป็นศัตรูแล

สำนวนการตีความของ ธีรพร  เพชรกำแพง
พระ ๗ เป็นบริวาร การตระหนักรู้ถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของตนและบุคคลใกล้ตัว สมถะ เก็บอารมณ์
พระ ๕ เป็นอายุ การดำเนินชีวิตตามรูปแบบที่ถูกที่ควร มุ่งมั่นการกระทำตามเหตุผล  พัฒนาตนเองเสมอ
พระ ๘ เป็นเดช มีประสบการณ์ในการกระทำที่มีความคล่องตัวทุกสภาวะ แก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ดี มุ่งมั่นอะไรเป็นพักๆ
พระ ๖ เป็นศรี ผลจากทักษะความคล่องตัวทำให้เกิดความสำเร็จอย่างราบรื่น เป็นจุดเด่นที่สนใจ ได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่อง
พระ ๑ เป็นมูละ การสร้างความพร้อมในองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิต ทะเยอทะยานและกระตือรือร้นในการแสวงหา
พระ ๒ เป็นอุตสาหะ รู้หน้าที่ความรับผิดชอบและพยายามกระทำด้วยความรอบคอบเป็นอย่างดี มีความรู้สึกผูกพันกับการงานที่ทำ ไม่วางธุระ
พระ ๓ เป็นมนตรี การได้รับความสนับสนุนเพราะความสามารถในเชิงกล้ากระทำ ขยันขันแข็ง เอาจริงเอาจัง มักได้รับโอกาส
พระ ๔ เป็นกาลี กักขฬะ หยาบคาย เจ้าเล่ห์เจ้ากล มารยา โกหกหลอกลวง ไม่มีสาระ เป็นเรื่องเป็นความเพราะปาก ประสาทเสีย (เสียบริบทพื้นฐานทางด้านสื่อสารแสดงออก)

หมายเหตุ : การพิจารณาสำนวนนี้วิเคราะห์จากเค้าโครงสร้างทางทักษาวิชาเดิม คือ ความหมายทาง ดาว ธาตุ เรือนทักษา ประยุกต์ให้เข้าระบบมัชฌิมาพยากรณ์ตามแบบฉบับสายวิชาของผู้เขียน


ธีรพร  เพชรกำแพง
พฤศจิกายน ๒๕๕๕


ทักษาพยากรณ์วารกำเนิด ตอน คนที่เกิดวันศุกร์



6.คนที่เกิดวันศุกร์

สำนวนเดิมท่านว่า
พระ ๖ เป็นบริวาร มีลูกเมียข้าไทดี
พระ ๑ เป็นอายุ มีอายุยืน บางตำราว่ามักเกิดโรค
พระ ๒ เป็นเดช ว่ามีเดชดั่งพญาคชสาร
พระ ๓ เป็นศรี ทรัพย์มากแต่มักจ่ายเสียหาย
พระ ๔ เป็นมูละ รูปงาม
พระ ๗ เป็นอุตสาหะ ทำอันใดมักสลาย บางตำราบ้างร้างไว้เพราะปัญหา
พระ ๕ เป็นมนตรี ลูกกเมียข้าไทดี จะได้เป็นผู้ใหญ่
พระ ๘ เป็นกาลี อาภัพญาติพี่น้องมิตรสหายย่อมเป็นศัตรูแล

สำนวนการตีความของ ธีรพร  เพชรกำแพง
พระ ๖ เป็นบริวาร การใช้ความสัมผัสความคิดนึกรู้ของตนเองและคนอื่นเพื่อนำไปประเมินในการตัดสินใจเรื่องราว
พระ ๑ เป็นอายุ การดำเนินชีวิตตามรูปแบบส่วนตัวที่ต้องมีความพร้อมอยู่ตลอด ใช้ชีวิตอย่างมีแบบแผน
พระ ๒ เป็นเดช มุ่งธรรมชาติแห่งอารมณ์ความปรารถนาที่มั่นคงลงมือกระทำอย่างต่อเนื่อง
พระ ๓ เป็นศรี การได้รับผลแห่งการกระทำอย่างคุ้มค่า(ทำมากได้มาก) หาสิ่งใหม่เพื่อกระทำใหสำเร็จอีก
พระ ๔ เป็นมูละ ธรรมชาติพื้นฐานในการพลิกแพลงประยุกต์สร้างสรรค์ปัจจัยพื้นฐาน และพอใจในพื้นฐานของชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ยึดติดจนเกินไปนัก
พระ ๗ เป็นอุตสาหะ การมุ่งกระทำด้วยเป้าหมายที่ใหญ่และยาวไกล โดยการลำดับแผนการทำงานที่จะทำให้ได้ผลเป็นช่วงเวลาต่อยอดจนสู่ความสำเร็จ อดทนเอาการเอางาน รับผิดชอบ จริงจัง ผลงานมีประสิทธิภาพ
พระ ๕ เป็นมนตรี การได้รับความสนับสนุนเพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเชิงเหตุผลและการหยั่งเหตุการณ์ เป็นผู้มีหัวในการพัฒนาก้าวหน้ามองการณ์ไกล
พระ ๘ เป็นกาลี หลงกระแสโลกกระแสสังคม ลุ่มหลงมัวเมา ตกอยู่ในโมหะจริต วู่วาม บุ่มบ่าม ขาดความยั้งคิด เจ้าเล่ห์ ฉลาดแกมโกง กระล่อน โกหกหลอกลวงเอาตัวรอดไปวันๆ ขาดความน่าเชื่อถือ สร้างความเดือดร้อนให้หมู่คณะและสังคม (เสียบริบทพื้นฐานทางด้านสัมพันธภาพ)

หมายเหตุ : การพิจารณาสำนวนนี้วิเคราะห์จากเค้าโครงสร้างทางทักษาวิชาเดิม คือ ความหมายทาง ดาว ธาตุ เรือนทักษา ประยุกต์ให้เข้าระบบมัชฌิมาพยากรณ์ตามแบบฉบับสายวิชาของผู้เขียน


ธีรพร  เพชรกำแพง
พฤศจิกายน ๒๕๕๕


ทักษาพยากรณ์วารกำเนิด ตอน คนที่เกิดวันพฤหัสบดี



5.คนที่เกิดวันพฤหัสบดี

สำนวนเดิมท่านว่า
พระ ๕ เป็นบริวาร มีผู้คนลูกเมียช้างม้ามาก ประกอบไปด้วยความสุข
พระ ๘ เป็นอายุ มักเกิดโรคมาก
พระ ๖ เป็นเดช จะมีศักดานุภาพ ดังพระยาอุศุภราช
พระ ๑ เป็นศรี จะมีทรัพย์มากแต่มักเสียหาย
พระ ๒ เป็นมูละ จะมีรูปงามชอบใจคนทั้งหลาย มีเมียหลาย
พระ ๓ เป็นอุตสาหะ ทำอันใดมักไถล
พระ ๔ เป็นมนตรี จะมีลูกลูกเมียข้าไทดี
พระ ๗ เป็นกาลี ร้ายนัก ญาติพี่น้องมักเป็นศัตรู

สำนวนการตีความของ ธีรพร  เพชรกำแพง
พระ ๕ เป็นบริวาร การแสดงหลักเหตุผลเพื่อความเข้าใจตนเองและคนใกล้ตัว พยายามนำพาความพัฒนามาสู่
พระ ๘ เป็นอายุ การใช้ชีวิตแบบเชื่อมโยงปรับประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ การใช้หัวคิดได้รอบด้าน ฉลาดในการเอาตัวรอดและครองตน
พระ ๖ เป็นเดช นำทักษะความคล่องตัวในการกระทำการหลายด้านมาใช้อย่างได้ผล มีหัวคิดปรับประยุกต์เพื่อความราบรื่น
พระ ๑ เป็นศรี ความสำเร็จที่โดดเด่นโดยการบริหารจัดการของตนเอง เป็นที่นิยมพอใจ เจริญก้าวหน้าในกลุ่มคน
พระ ๒ เป็นมูละ การดูแลแก้ไขปกป้องรักษาปัจจัยพื้นฐานที่มีอยู่ให้คงสภาพ อนุรักษ์นิยมในฐานะความเป็นอยู่
พระ ๓ เป็นอุตสาหะ การมุ่งกระทำมุ่งแสวงหาอย่างตั้งใจเอาจริงเอาจัง มีความขยันตื่นตัวในการงาน ชอบเผชิญความเสี่ยงความท้าทายกับการงาน
พระ ๔ เป็นมนตรี การได้รับความสนับสนุนเพราะบุกคลิกภาพ สติปัญญาไหวพริบ การสื่อสารแสดงออกที่โดดเด่นคล่องแคล่ว
พระ ๗ เป็นกาลี ขาดความรอบคอบ สูญเสียแบบแผนชีวิต วิตกกังวล เครียดจัด ฟุ้งซ่าน เฉื่อยชา ไม่น่าไว้วางใจ เสียสติสัมปชัญญะ เก็บกดแล้วมักกระทำการแปลกๆ ตอกย้ำความล้มเหลว (เสียบริบทพื้นฐานทางด้านโครงสร้างชีวิต)

หมายเหตุ : การพิจารณาสำนวนนี้วิเคราะห์จากเค้าโครงสร้างทางทักษาวิชาเดิม คือ ความหมายทาง ดาว ธาตุ เรือนทักษา ประยุกต์ให้เข้าระบบมัชฌิมาพยากรณ์ตามแบบฉบับสายวิชาของผู้เขียน


ธีรพร  เพชรกำแพง
พฤศจิกายน ๒๕๕๕


ทักษาพยากรณ์วารกำเนิด ตอน คนที่เกิดวันพุธ



4.คนที่เกิดวันพุธ

สำนวนเดิมท่านว่า
พระ ๔ เป็นบริวาร มีลูกเมียข้าคนนำลาภผลมาให้
พระ ๗ เป็นอายุ มีอายุไม่ใคร่ยืน เกิดโรคาพยาธิมาก
พระ ๕ เป็นเดชมีเดชเหมือนพระโพธิสัตว์ ใจบุญสุนทาน
พระ ๘ เป็นศรี ทรัพย์น้อยทำได้ไว้มิคง มักจับจ่าย ขึ้งโกรธ มักทำอันใดแต่พอตัว
พระ ๖ เป็นมูละ มีรูปงาม
พระ ๑ เป็นอุตสาหะ มีใจเร็ว มีทรัพย์ข้าวของมาก
พระ ๒ เป็นมนตรี มีลูกเมียข้าไทย่อมนำทรัพย์มาสู่ตน
พระ ๓ เป็นกาลี อาภัพมิตรสหาย เพื่อนฝูงมักเป็นศัตรูต่อตน

สำนวนการตีความของ ธีรพร  เพชรกำแพง
พระ ๔ เป็นบริวาร การใช้ปฏิภาณไหวพริบ,ทักษะการพูดสื่อสารแสดงออกกับบุคคลใกล้ตัว การแสดงเจตนาต่อผู้แวดล้อม
พระ ๗ เป็นอายุ การใช้ชีวิตตามรูปแบบ,แบบแผน,มาตรฐานที่ตนเองวางไว้อย่างเคร่งครัด การดำเนินชีวิตที่เป็นขั้นเป็นตอน
พระ ๕ เป็นเดช ใช้ความสามารถเชิงเหตุผลที่ต้องได้ประโยชน์ต่อยอดเพื่อขยับขยายความพัฒนาต่อไป
พระ ๘ เป็นศรี ความสำเร็จจากความสามารถรอบตัว เป็นที่นิยมในกลุ่มคณะ รู้จักเชื่อมโยงเครือข่ายปรับประยุกต์ให้ผลสำเร็จนั้นเพิ่มพูนขยายมากขึ้น
พระ ๖ เป็นมูละ การมองพื้นฐานความเป็นชีวิตแล้วประเมินคุณค่าเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าขึ้นเรื่อยๆ การตัดสินใจเลือกในสิ่งที่นิยมชมชอบมากกว่าเหตุผล
พระ ๑ เป็นอุตสาหะ ความเพียรพยายาม มุ่งมั่น กระตือรือร้นในการงาน ยึดมั่นเชื่อมั่นในความคิดการกระทำของตนเอง
พระ ๒ เป็นมนตรี การได้รับความสนับสนุนเพราะเป็นที่ไว้วางใจในความมั่นคงไม่ผันแปร จริงใจต่อมิตรภาพ
พระ ๓ เป็นกาลี เกียจคร้าน ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ บุ่มบ่ามไม่เป็นเรื่อง หาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว กระทำสิ่งใดไม่เป็นผล (เสียบริบทพื้นฐานทางด้านการกระทำ)

...สำหรับท่านที่ใช้ วันพุธกลางคืนเป็นวารราหู นั้น ในต้นตำราเดิมท่านมิได้กล่าวถึงสำนวนเดิมไว้ จึงใคร่ขอยกสำนวนของผู้เขียนไว้ เพราะเห็นมีผู้ประสงค์ใช้กันอยู่ ดังนี้...

สำนวนการตีความของ ธีรพร  เพชรกำแพง (กรณีใช้วันพุธกลางคืนเป็นวารราหู)
พระ ๘ เป็นบริวาร...การเชื่อมโยงตนเองเข้ากับผู้อื่นเพื่อกระทำการเป็นหมู่คณะ มีมิตรภาพ สามารถชักจูงและโน้มน้าวให้ผู้อื่นเชื่อถือ
พระ ๖ เป็นอายุ...การใช้ชีวิตเชิงตัดสินคุณค่าในสิ่งที่เข้ามากระทบทั้งวัตถุและจิตใจ มีทั้งความพึงใจและไม่พึงใจ
พระ ๑ เป็นเดช...มุ่งมั่นแสดงตนเป็นศูนย์กลางในการกระทำกิจต่างๆอย่างเด่นชัด
พระ ๒ เป็นศรี...ความสำเร็จอันมาจากความเชื่อมั่นในความคิดที่ถูกต้องและความปรารถนาที่แรงกล้า ราบรื่น สมบูรณ์พร้อม
พระ ๓ เป็นมูละ...การมุ่งสร้างการกระทำสั่งสมไว้เป็นผลสืบเนื่องเพื่อให้เกิดปัจจัยพื้นฐานต่างๆของชีวิตมาแต่เดิม
พระ ๔ เป็นอุตสาหะ...การใช้ความรู้ความสามารถและปฏิภาณไหวพริบประดุจพรสวรรค์ในการทำงาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สามารถควบคุมและมุ่งผลสำเร็จของงานได้อย่างลงตัว
พระ ๗ เป็นมนตรี...การได้รับความสนับสนุนเพราะมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง ไม่วางธุระ คิดพิจารณารอบคอบรอบด้าน ตรึกตรองหาเหตุผลประกอบ ซื่อสัตย์ เป็นที่ไว้วางใจในตัวตนเฉพาะตามเอกลักษณ์ การได้รับการสนับสนุนในระยะยาว
พระ ๕ เป็นกาลี...ขาดความยั้งคิด ไร้ซึ่งเหตุผล ควบคุมตนเองไม่ได้ อวดตัวอวดฉลาด ชั่วดีรู้หมดแต่อดทำไม่ได้ งมงายไร้สาระ พล่ามในสิ่งไม่เป็นแก่นสาร (เสียบริบทพื้นฐานทางด้านพัฒนาความก้าวหน้า)
หมายเหตุ : การพิจารณาสำนวนนี้วิเคราะห์จากเค้าโครงสร้างทางทักษาวิชาเดิม คือ ความหมายทาง ดาว ธาตุ เรือนทักษา ประยุกต์ให้เข้าระบบมัชฌิมาพยากรณ์ตามแบบฉบับสายวิชาของผู้เขียน


ธีรพร  เพชรกำแพง
พฤศจิกายน ๒๕๕๕


ทักษาพยากรณ์วารกำเนิด ตอน คนที่เกิดวันอังคาร



3.คนที่เกิดวันอังคาร

สำนวนเดิมท่านว่า
พระ ๓ เป็นบริวาร มีลูกเมียข้าคนย่อมรู้หลัก ปากกล้าดี
พระ ๔ เป็นอายุ มีอายุยืนกว่าญาติ
พระ ๗ เป็นเดช จะมีเดชดังพญาหนุมาน
พระ ๕ เป็นศรี จะมีทรัพย์และความรู้มาก
พระ ๘ เป็นมูละ มีรูปมิสู้งาม เดินมักก้มหน้า
พระ ๖ เป็นอุตสาหะ เป็นช่างดีมีทรัพย์มาก
พระ ๑ เป็นมนตรี มีข้าคนมักเป็นศัตรู
พระ ๒ เป็นกาลี ทำไร่นาค้าขายมิสู้ดี ได้แต่พอกิน

สำนวนการตีความของ ธีรพร  เพชรกำแพง
พระ ๓ เป็นบริวาร การกระตุ้นขับเคลื่อนตนเองและผู้แวดล้อมใกล้ตัวให้มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ
พระ ๔ เป็นอายุ การเรียนรู้,เข้าใจและคล่องตัวในการดำเนินชีวิต รู้หลักการเอาตัวรอดที่ดี ประยุกต์ความเป็นอยู่
พระ ๗ เป็นเดช มุ่งมั่นกระทำต่อเนื่องไม่ลดละ เอาการเอางาน หนักแน่น อดทน มีความรับผิดชอบในหน้าที่
พระ ๕ เป็นศรี ผลแห่งการกระทำประดุจโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์ การบริหารจัดการความสำเร็จด้วยสติปัญญา การพัฒนาผลประโยชน์ให้งอกเงย
พระ ๘ เป็นมูละ พื้นฐานชีวิตที่อิงกับกระแสสังคมแต่รอบรู้ในการกระทำเพื่อให้ได้มาและการใช้ประโยชน์ก่อนที่จะแสวงหาเข้ามาใหม่เสมือนการแลกเปลี่ยนหมุนเวียน (ปัจจัยต่างๆมีอยู่ทั่วไป รู้จักใช้รู้จักหาหรือไม่เท่านั้น)
พระ ๖ เป็นอุตสาหะ การสร้างความราบรื่นให้กับการงานด้วยการอาศัยทักษะเฉพาะตัว(เสน่ห์,การพูดโน้มน้าว,ความรู้เฉพาะด้าน) ความคล่องตัวจากการประเมินทางเลือกก่อนตัดสินใจ แต่มักเลือกในสิ่งที่ง่ายสบายตนถึงแม้ผลที่ได้จะน้อยก็ตาม
พระ ๑ เป็นมนตรี การได้รับความสนับสนุนเพราะความสามารถที่มีโดดเด่นในตน บุคคล,กลุ่มคนให้ความสนใจ
พระ ๒ เป็นกาลี จิตใจลังเล ตัดสินใจผิดพลาด ขาดความรับผิดชอบ วางธุระ อ่อนไหวแปรปรวน อารมณ์บกพร่อง (เสียบริบทพื้นฐานทางด้านจิตใจ)

หมายเหตุ : การพิจารณาสำนวนนี้วิเคราะห์จากเค้าโครงสร้างทางทักษาวิชาเดิม คือ ความหมายทาง ดาว ธาตุ เรือนทักษา ประยุกต์ให้เข้าระบบมัชฌิมาพยากรณ์ตามแบบฉบับสายวิชาของผู้เขียน


ธีรพร  เพชรกำแพง
พฤศจิกายน ๒๕๕๕

ทักษาพยากรณ์วารกำเนิด ตอน คนที่เกิดวันจันทร์



2.คนที่เกิดวันจันทร์

สำนวนเดิมท่านว่า
พระ ๒ เป็นบริวาร จักเป็นคนใหญ่โต ร่ำรวยมาก
พระ ๓ เป็นอายุ บังเกิดเป็นโรคพยาธิ
พระ ๔ เป็นเดชจะมีเดชกำลังมากดั่งพระยาคชสาร
พระ ๗ เป็นศรี มีผู้คนข้าทาส มักจับจ่ายเงินมาก
พระ ๕ เป็นมูละ จะมีรูปร่างงดงามเป็นที่ชอบใจแก่คนทั้งหลาย
พระ ๘ เป็นอุตสาหะ จะมีความรู้มาก ทำการอันใดมักนานจึงแล้ว
พระ ๖ เป็นมนตรี จะมีผู้คนข้าไทมาก ได้เมียเผ่าผู้ดี
พระ ๑ เป็นกาลี จะมีอายุน้อยแล

สำนวนการตีความของ ธีรพร  เพชรกำแพง
พระ ๒ เป็นบริวาร การรับรู้และเข้าใจความเป็นไปของตนเองที่เกี่ยวข้องกับผู้แวดล้อมใกล้ตัว
พระ ๓ เป็นอายุ การเร้ากระทำสิ่งต่างๆของตนให้สำเร็จโดยเร็ว มุ่งหน้ากระทำสู่เป้าหมาย
พระ ๔ เป็นเดช เฉลียวฉลาดในการกระทำ รู้จักปรับประยุกต์วิธีการให้ง่ายและใช้เวลาน้อยแต่ได้ผลดี
พระ ๗ เป็นศรี ผลสำเร็จจากการใช้ทักษะความชำนาญ การมุ่งมั่นกระทำอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ออกมาจึงมีความมั่นคงไม่คลอนแคลน มองการณ์ไกลด้านความพัฒนาก้าวหน้า
พระ ๕ เป็นมูละ พื้นฐานของชีวิตที่ต้องมีการพัฒนาขยับขยายความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น อยู่ในแนวทางที่วางระบบชีวิตเอาไว้
พระ ๘ เป็นอุตสาหะ มักมุ่งการงานที่อยู่ในกระแสสังคม ทันเหตุการณ์เป็นที่สนใจของคนทั่วไป แล้วดึงประโยชน์ออกมาจากตรงนั้น สามารถทำงานเชิงปรับประยุกต์และความคิดสร้างสรรค์ได้ดี มีแรงกระตุ้นในความเพียรเป็นพักๆ
พระ ๖ เป็นมนตรี การได้รับความสนับสนุนเพราะการได้รับความสนใจ ความคล่องตัวในการประเมินสถานการณ์ ละเอียดลออพิถีพิถันกลั่นกรอง การได้รับความเมตตาจากเอกลักษณ์ส่วนตัว
พระ ๑ เป็นกาลี การเสียความมั่นใจ สูญสิ้นความโดดเด่น ติดขัดในการกระทำกิจต่างๆ ไม่เป็นที่นิยม พื้นฐานชีวิตแย่ลง (เสียบริบทพื้นฐานทางด้านการใช้ชีวิต)

หมายเหตุ : การพิจารณาสำนวนนี้วิเคราะห์จากเค้าโครงสร้างทางทักษาวิชาเดิม คือ ความหมายทาง ดาว ธาตุ เรือนทักษา ประยุกต์ให้เข้าระบบมัชฌิมาพยากรณ์ตามแบบฉบับสายวิชาของผู้เขียน


ธีรพร  เพชรกำแพง
พฤศจิกายน ๒๕๕๕


ทักษาพยากรณ์วารกำเนิด ตอน คนที่เกิดวันอาทิตย์



สำนวนเดิมท่านว่า
พระ ๑ เป็นบริวาร มีลูกเมียมากแต่สอนยาก
พระ ๒ เป็นอายุ มีอายุยืนกว่าญาติ
พระ ๓ เป็นเดช มีเดชดังพระยาราชสีห์
พระ ๔ เป็นศรี มีทรัพย์มากดังเศรษฐี
พระ ๗ เป็นมูละ รูปไม่งาม
พระ ๕ เป็นอุตสาหะ มีความรู้ยิ่งกว่าผู้อื่น ทำอันใดมักเป็นคุณแก่ตน
พระ ๘ เป็นมนตรี มีลูกเมียข้าไทสอนยาก มักไม่เกรง
พระ ๖ เป็นกาลี จะมีหัวแหวนเป็นโทษแก่ตน ทำไร่นาค้าขายไม่สู้ดี มีของมักมีตำหนิ

สำนวนการตีความของ ธีรพร  เพชรกำแพง
พระ ๑ เป็นบริวาร การแสดงตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับบริบทพื้นฐานความเป็นอยู่ทั้งของตนเองและผู้ใกล้ชิด
พระ ๒ เป็นอายุ การใช้อารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อว่าถูกต้องในการดำเนินชีวิต มีแรงปรารถนาต่อเป้าหมาย
พระ ๓ เป็นเดช กระตือรือร้นจริงจังในการกระทำต้องการผลสำเร็จที่รวดเร็ว เอาการเอางาน
พระ ๔ เป็นศรี ความสำเร็จราบรื่นจากความรู้ความคิดการวางแผนการกระทำ การได้ผลประโยชน์จากมิตรภาพ
พระ ๗ เป็นมูละ การพิจารณาพื้นฐานความเป็นอยู่แล้วพยามปรับสร้างในสิ่งที่มีคุณค่าประโยชน์แท้จริงมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก หลักฐานฐานะดำเนินไปอย่างมั่นคงเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับเวลา
พระ ๕ เป็นอุตสาหะ การพิจารณาไต่ตรองลำดับขั้นตอนการกระทำแล้วมุ่งดำเนินงานอย่างเป็นแบบแผน ความสำเร็จตรงตามที่คาดหมายและได้ผลประโยชน์อีกหลายต่อ
พระ ๘ เป็นมนตรี การได้รับความสนับสนุนเพราะความเป็นที่นิยมหรือเป็นจุดสนใจ การแสดงออกถึงความมั่นใจในการกระทำ ความสามารถในการดึงดูดโน้มน้าว มีความคิดพลิกแพลงแผลงประยุกต์แก้ไขสถานการณ์ได้ดี การได้รับความสนับสนุนในประเด็นความคิดสร้างสรรค์(เป็นคราวๆไป)
พระ ๖ เป็นกาลี ขาดความยับยั้งชั่งใจ หลงกระแสคุณค่านิยม วางตัวไม่เหมาะสม หมกมุ่นกามารมณ์ โลภ เจ้าเล่ห์มารยา ไว้ใจไม่ได้ ขาดความมั่นใจและพร่องความสามารถที่เคยมี (เสียบริบทพื้นฐานทางด้านคุณค่าของชีวิต)

หมายเหตุ : การพิจารณาสำนวนนี้วิเคราะห์จากเค้าโครงสร้างทางทักษาวิชาเดิม คือ ความหมายทาง ดาว ธาตุ เรือนทักษา ประยุกต์ให้เข้าระบบมัชฌิมาพยากรณ์ตามแบบฉบับสายวิชาของผู้เขียน

ธีรพร  เพชรกำแพง
พฤศจิกายน ๒๕๕๕