ดาวหลายดวงในราศีเดียวกัน
โดย ธีรพร เพชรกำแพง
๘ มิถุนายน ๒๕๕๖
การพิจารณาดาวหลายดวงที่ร่วมราศีเดียวกัน
ทำให้ผู้ศึกษาโหราศาสตร์สงสัยอยู่เสมอว่าดาวตั้งหลายดวงจะประสมออกมาเป็นความหมายเชิงพยากรณ์ได้อย่างไร
ทั้งความเป็นคู่มิตร คู่ศัตรู คู่ธาตุ ซ้ำยังสวมบทบาทเจ้าเรือนในระบบเรือนชะตา
รวมไปถึงว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์กับชีวิตจริงดาวใดเป็นดาวเจ้าการ ฯ
เรียกว่าหลายเรื่องจิปาถะที่จะต้องนำมาพิจารณา
ผู้ศึกษาบางท่านให้ความหมายแบบกำปั้นทุบดิน เสมือนเอาดาวมาใส่ครกตำผสมรวมกันไป
ซึ่งความจริงท่านเก่าๆได้สอนไว้ในเรื่องดาวหลายดวงในราศีเดียวกัน
คือต้องรู้จักการวิเคราะห์(แยกแยะ)และสังเคราะห์(รวมเข้า)
ทีละดาวทีละดวงตามเรื่องราวที่จะต้องพยากรณ์นั้น (เรื่องราว = วิเคราะห์ + สังเคราะห์)
ส่วนเรื่องการประสมความหมายดาวหลายดวงในราศีนั้น
เปรียบเสมือนเป็นหลักรองลงมาเพื่อให้การพิจารณามีน้ำหนักสมเหตุสมผลไปตามเรื่องราวที่พยากรณ์
โดยพิจารณาว่าดาวแต่ละดวงอยู่ในราศีนั้นให้ความหมายอย่างไร เมื่อนำมาประสมกันแล้วสมควรที่จะได้สาระความหมายอย่างไร
และที่สำคัญคือเราจะต้องมีดาวเจ้าการเป็นตัวตั้ง
แล้วจึงประสมขยายไปสู่ดาวอื่นเพื่อให้ได้ความหมาย ฉะนั้นเมื่อเปลี่ยนดาวเจ้าการแล้วประสมขยายสู่ดาวอื่น
ก็จะได้ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยเช่นเดียวกัน
อิทธิพลของดาวราศีเดียวกันนั้น
มีผู้กล่าวว่าเป็นดวงที่ดูยาก แท้จริงแล้วมิใช่ตามที่พูดปัดความเข้าใจทิ้งไป
หากพิจารณาดวงชะตาตามที่เกริ่นไว้แล้วข้างต้นย่อมจะไม่ประสบปัญหาเลย
และจะเห็นได้ว่าเมื่อเราสอบความหมายก็ยังต้องโยงไปตามเรื่องราวที่จะพยากรณ์นั้นอยู่ตลอด
(เรื่องราว = ดาวเจ้าการ + ดาวที่เป็นบริบทเกี่ยวข้อง)
ส่วนที่ว่าดวงประเภทนี้เวลาขึ้นก็ขึ้นแรง ลงก็ลงแรงนั้น
เมื่อคิดตามด้วยใจเป็นกลางแล้ว จะเห็นว่าดวงที่มีดาวกระจายราศีอยู่
ชีวิตก็ผกผันขึ้นแรงลงแรงได้เหมือนกัน คำว่า “แรง” ในที่นี้สมควรจะหมายถึงราศีที่ดาวหลายดวงนั้นสถิตอยู่
อาการที่ว่าแรงเพราะดาวที่มาสถิตมีปัจจัยมากระทบมาก เช่น ดาวลอยในราศี
ความเป็นเจ้าเรือน เจ้าการเรื่องราว ฯ และบทบาทของตัวดาวเอง
ขอยกตัวอย่างการพิจารณาดาวหลายดวงสถิตในราศีเดียวกัน
เพื่อเป็นการทราบชัดเห็นจริงตามที่ได้อธิบายไว้
ตามรูปดวงจะเห็นว่าราศีพฤษภมีดาวสถิตร่วมกันอยู่ถึง
๔ ดวง คือ อาทิตย์(๑) พุธ(๔) ศุกร์(๖) และเสาร์(๗)
พึงพิจารณาความหมายของราศีแล้วตามด้วยความหมายดาวที่สถิตอยู่ในราศีนั้น
พฤษภ .. “สิ่งที่ต้องมี” จึงมีความหมายว่า สั่งสม สะสม อดทน แสวงหา รูปธรรม เงียบเอาเชิง
อนุรักษ์นิยม “เพื่อให้ได้มี” และในที่นี้เป็นเรือนกรรมะอันหมายถึง การกระทำ หน้าที่ ภารกิจ อาชีพ
การงาน ความรับผิดชอบ ความสามารถ การศึกษาต่อยอดการกระทำ บทบาทแห่งการกระทำ
ตำแหน่ง ยศ สถานะ การกระทำที่แสดงออกได้ชัด(ปัจจุบันกรรมต่อเนื่อง)
สิ่งที่สร้างขึ้นใหม่
พฤษภเป็นกรรมะ ประกอบกิจใดจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ
มั่นใจ วางใจ ในความมั่นคงปลอดภัยจากการเสี่ยงกิจการงานนั้น
ดาวสถิตราศี
อาทิตย์ คือ
พลังงานพื้นฐานเดิมของชีวิตและจิตวิญญาณ สถิตพฤษภ หมายถึง อดทน สงบ จดจ่อ มุ่งมั่น
ตั้งใจ
พุธ คือ ชวนญาณ(สติปัญญาเฉพาะหน้า)
การคิดการเข้าใจ การแสดงออกทางวัจนะและอวัจนะภาษา การปรับตัว การสังเกต จดจำลอกเลียน
สถิตพฤษภ หมายถึง ระมัดระวัง ระแวงผลในคำพูด,การแสดงออก
หากไม่มั่นใจแท้จริงไม่กล้าแสดงทัศนะมาก (การแสดงออกที่เนิ่นช้า)
ศุกร์ คือ ความปีติยินดี ปรารถนา อารมณ์สุข
ความรัก ความงาม การคิดค้นสร้างสรรค์เชิงประกาย ความราบรื่นสอดคล้องต้องประสงค์
สมดุลพอดีลงตัว พรสวรรค์ ผลประโยชน์ (บ้างว่ากิเลสสมบัติพัสฐาน สถิตพฤษภ หมายถึง การมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจให้ราบรื่นกระชับเข้าและเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม
การใช้ไหวพริบให้เกิดประโยชน์ (การมีพื้นฐานเดิมในการสร้างสรรค์ผลประโยชน์)
เสาร์ คือ ประธานบาปเคราะห์ หน้าที่
สิ่งที่ต้องกระทำ แผนการ ข้อจำกัด ทุกข์โทษภัย อุปสรรค ระยะยาว โครงสร้าง
ผลเนิ่นแต่แน่นอน น่าเกรงขาม ความกลัว ละเอียดรอบคอบ สถิตพฤษภ หมายถึง
การนำค่านิยมเก่า พื้นฐานความรู้เดิมที่เคยสั่งสมมาปฏิบัติสานต่อ ทั้งการสร้าง
ซ่อม ประยุกต์ โดยใช้เวลาสักระยะ (ใช้ข้ออนุรักษ์นิยมให้เป็นประโยชน์)
ดาวสถิตเรือน
อาทิตย์สถิตเรือนกรรมะ ความมั่นคง ชัดเจน
และมุ่งมั่นในเชิงการกระทำกิจการงาน
พุธสถิตเรือนกรรมะ การสื่อสาร เจรจา ต่อรอง
เรียนรู้ เพื่อให้ได้ผลและประสบการณ์ของกิจที่กระทำ
ศุกร์สถิตเรือนกรรมะ การใช้อรรถแวดล้อมที่เป็นประโยชน์สร้างความคล่องตัวในการทำกิจการงาน
รวมถึงการกระทำที่เป็นข้อตกลง
เสาร์สถิตเรือนกรรมะ การกระทำกิจการงานด้วยความสามารถ
ความชำนาญทางด้านทักษะประสบการณ์ อำนาจในการควบคุมกิจการงานให้ลงตัว
เมื่อวิเคราะห์เป็นการแยกแยะความหมายในแต่ละส่วนเช่นนี้แล้ว
ก็จะทำให้เราสังเคราะห์ความหมายรวบรวมออกมาเป็นคำพยากรณ์ได้ ยกตัวอย่างคำพยากรณ์ตามรูปดวงลัคนาราศสิงห์
ตนุลัคน์คือ ๑ สถิตราศีพฤษภเรือนกรรมะ
เจ้าชะตามีความมุ่งมั่นที่แสวงหาความมั่นคงให้กับชีวิต(๑)ด้วยอาชีพหน้าที่การงาน(กรรมะ)
ซึ่งจะต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะตน(๔) เพื่อให้เกิดความราบรื่นคล่องตัว(๖)
โดยมีแบบแผนโครงสร้างเป็นขั้นเป็นตอนระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน(๗)
เราได้สังเคราะห์ภาพความหมายออกมาเป็นลักษณะกลางๆแล้ว
ส่วนความดีร้ายนั้นเราพิจารณาจากดาวนั้นเข้ามาสำทับอีกครั้งหนึ่ง (คู่มิตร
คู่ศัตรู คู่ธาตุ อัตตาของดาว ระบบเรือนฯ) เรียกว่าเป็นการพิจารณาแบบเป็นขั้นตอน
เช่น งานนั้นมีความหนักหน่วงอุปสรรคปัญหาระยะยาว(๗ อริ)
งานนั้นมีความคล่องตัวราบรื่นในการใช้ความรู้ความสามารถนำไปสู่ความสำเร็จ(๔+๖)
แต่สังคมแวดล้อมมักเป็นสิ่งกดดันทำให้เกิดความเครียดวิตกกังวลในสิ่งที่มุ่งหวัง(๖+๗)
เป็นต้น
ดาวสถิตร่วมกันหลายดวงในราศีเดียวกันนี้
ท่านเก่าๆมักทำเป็นเกร็ดความรู้ไว้เป็นข้อสังเกต เช่นกรณีนี้ ๑ ๔ ๖ ๗
อยู่ในราศีเดียวกัน ท่านให้ความหมายไว้ว่า “มีรูปร่างสวยงามเป็นที่สะดุดตาของเพศตรงข้าม
ศรัทธาและบูชาความซื่อสัตย์สุจริต บำเพ็ญความดีมีคุณธรรม” แต่มิใช่กฎเกณฑ์ตายตัวแต่ประการใด
เพราะดวงชะตาที่เราผูกขึ้นมานั้นเป็นของกลางๆยังไม่มีใครมาครองเป็นเจ้าของดวง
ต่อเมื่อสอบดวงนั้นเข้าหาคนได้อย่างถูกต้องแล้ว จึงเป็นอันทราบได้ว่าการพิจารณาดวงตามหลักนั้นเกณฑ์นี้เป็นที่ได้ผลตรงตามชีวิตจริงของเจ้าชะตา
(ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างดวงชะตา โครงสร้างเวลา และโครงสร้างกรรม(เหตุการณ์))
ท้ายที่สุดแห่งบทความนี้
ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล ราบรื่น รุ่งเรือง ร่ำรวย
มีความแตกฉานในโหราศาสตร์ เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ด้วยกันถ้วนทั่วทุกท่านเถิด .