21 พฤศจิกายน 2557

สิ่งละอัน..วันละน้อย (21 พฤศจิกายน 2557)

"รอยล้อแห่งเกวียน หมุนเวียนตามรอยเท้าแห่งโค"...
วงรอบแห่งดวงชะตาย่อมย้อนรอยหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป โดยมีต้นแบบจากวิถีในอดีต เป็นปัจจุบัน ส่งผลถึงอนาคต มองภาพรวมคล้ายเป็นเนื้อเดียวกัน แต่มีความ "ต่าง" กันไปทุกขณะ
อาศัยวงรอบที่มีกฎเกณฑ์พอที่จะอนุมานอุปมาเปรียบเทียบเชิงชั้นให้เห็นได้ นั่นก็คือกระบวนวิธีทางโหราศาสตร์ที่นำเอาธรรมชาติหนึ่งมาอธิบายอีกธรรมชาติหนึ่ง ด้วยหลักการที่ว่า อนันตจักรวาลมีผลต่อจักรวาล จักรวาลมีผลต่อสรรพดาวทั้งหลาย สรรพดาวทั้งหลายมีผลต่อดวงดาว ดวงดาวมีผลต่อพื้นที่อาณาเขตของตน อย่างโลกเรานี้ก็อย่างนั้น คือ มีผลต่อพื้นที่ในโลก และก็มีผลต่ออะไรก็ตามที่อยู่ในพื้นที่อาณาเขตนั้น เช่นเดียวกันอีกว่าอาณาเขตใหญ่ก็มีผลต่ออาณาเขตน้อย อาณาเขตที่ว่าน้อยนั้นก็ยังเป็นใหญ่ที่ไปหาน้อยกว่านั้นลงไปอีกเรื่อยๆเป็น "วัฏฏะ"
โดยความเป็นสากลอย่างนั้นก็สามารถที่จะย้อนอนุมานจากสิ่งเล็กน้อยไปหาสิ่งใหญ่ได้ เสมือนกับการได้เห็นผ้าผืนใหญ่ย่อมรู้โดยทันทีว่ามาจากด้ายเส้นน้อย ขณะเดียวกันเมื่อเห็นด้ายเล็กๆก็หมายรู้เอาได้ว่าสามารถรวมเป็นผ้าผืนใหญ่
นี่คือเรื่องการมองว่ากระบวนวิธีทางโหราศาสตร์อธิบายความเป็นไปต่างๆได้อย่างไร ยังไม่ต้องมองว่าจะต้องเอาอะไรมาเป็น "อุปกรณ์" ทางโหราศาสตร์ เราจะเห็นว่านักโหราศาสตร์เก่าๆท่านอนุมานสิ่งต่างๆที่สัมพันธ์รอบตัวออกมาเป็นการพยากรณ์ โดยที่ยังไม่ต้องนำอุปกรณ์อย่าง "ดวงดาว" มาใช้ ท่านก็ทำนายลึกซึ้งไปมากกว่าครึ่งแล้ว นี่เป็นความ "อัศจรรย์" ทางโหราศาสตร์ที่เป็น "ภูมิปัญญา" ของคนในพื้นที่นี้ แถบนี้ อาณาเขตนี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าขึ้นไปตลอดจนถึงอนันต์
ทักทายไปถึงกัลยาณมิตรพี่น้องเพื่อนพ้องสมาชิกชาวสมุดจดดวงของเราทุกท่าน อาจจะเห็นว่าห่างหายไปบ้างในช่วงนี้ ต้องบอกกล่าวกันก่อนว่าภาระหน้าที่ในงานประจำนั้นมีมากพอสมควร ประกอบกับร่างกายที่ไม่ค่อยจะปกติอย่างที่ทราบ พอใช้งานหนักเข้าก็ทำท่าจะแย่ ต้องพักผ่อนพักฟื้นอาศัยประเหลาะใช้ไปก่อน เหตุนี้ก็เลยคล้อยเคลื่อนเลื่อนช้าในการที่จะได้เสนอสิ่งสรรต่างๆที่เป็นประโยชน์ทางโหราศาสตร์ ไม่สมประสงค์ตามที่ตั้งใจไว้ เมื่อภาระงานเบาลงบ้าง และเมื่อเพลาๆจากการเดินทางไปรักษาตัวที่ศิริราช(๓-๔ ครั้งต่อเดือน) พอหาเวลาสบายใจได้ก็จะลงมือสรรสร้างสิ่งดีๆให้กับท่านกัลยาณมิตรผู้ศึกษาโหราศาสตร์ทั้งหลายได้ยลกันอีกในโอกาสต่อไปครับ

ธีรพร  เพชรกำแพง

10 พฤศจิกายน 2557

สิ่งละอัน..วันละน้อย (10 พฤศจิกายน 2557)

โหราศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการเรียนรู้ความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ “โหรา” คือทิวาราตรีที่เป็นเรื่องของ “กาลเวลา” สิ่งใดที่อิงกับกาลเวลานี้ย่อมสามารถนำมาใช้เป็นโครงสร้างทางโหราศาสตร์ได้ ด้วยเหตุนี้ดวงดาวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกาลเวลาเพราะมี “วงรอบการโคจร” ที่สังเกตช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับบริบทพื้นที่(กาลเทศะ) จึงสามารถนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ทางโหราศาสตร์ได้อย่างดี แทบจะมองแยกออกจากกันได้ยากจนมีคำกล่าวที่ว่าดาราศาสตร์และโหราศาสตร์เป็น “เนื้อเดียวกัน”
ฉะนั้นโหราศาสตร์ทุกวันนี้จึงต้องศึกษาเรียนรู้ถึงเรื่องดวงดาวบนท้องฟ้าควบคู่ไปกับความเป็นไปขอชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่ในแง่ของความเป็นปัจเจกบุคคลตลอดรวมไปถึงความสัมพันธ์ติดต่อที่เรียกว่าการเป็นสังคม สรุปรวบเอาว่าเป็นเรื่องราวของ “ดวงดาว” ที่สรรด้วยหลักการทางโหราศาสตร์ถ่ายทอดออกมาเป็น “ดวงคน” นั้นเอง
ปัจจุบันเราจะเห็นว่าเรื่องราวของคนเรานั้นมีความสลับซับซ้อนยากง่ายแตกต่างกันไป แต่ความมุ่งหมายของโหราศาสตร์นี้ก็ยังมีจุดหลักอยู่ที่การ “อ่านวิเคราะห์” ผ่านดวงดาวด้วยกระบวนทัศน์ทางโหราศาสตร์อันเป็นการ “สังเคราะห์” มวลความรู้ต่างๆเข้าด้วยกันแล้วกลายมาเป็นคำพยากรณ์ที่นำมาใช้ในเหตุเรื่องราวต่างๆตามแต่จะเป็นไป เพื่อให้ได้เรื่องราวของคน สังคม บ้านเมือง ตลอดจนถึงโลกของเราซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีการหยุดนิ่ง คือ “เป็นไป” เรื่อยๆ
เหตุดังนี้เอง ผู้ศึกษาโหราศาสตร์ทั้งหลายจึงมุ่งหาเป้าหมายอันสำคัญ คือการรู้ “ความเป็นไป” ของชีวิต และปรับการใช้ชีวิตให้สมควรสอดคล้องกับเหตุปัจจัยที่ได้จากการมองผ่านโหราศาสตร์ อันถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดที่จะพึงมีพึงได้จากการใช้วิชาโหราศาสตร์ในยุคปัจจุบัน จากนั้นจึงผันขึ้นเป็นความสนใจใคร่รู้เชิงเปรียบเทียบในสิ่งอื่นบุคคลอื่นที่มิใช่เพียงแค่ตัวตนและบริบทแวดล้อมของตนเองอย่างเดียวเท่านั้น อาจจะเรียกว่าเป็นการพยากรณ์ทำนายทายทักในโอกาสต่อมา

กล่าวได้ว่าโหราศาสตร์เป็นทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ที่มีขั้นตอนการศึกษาและกระบวนการใช้ที่เป็นรูปธรรม มีหลักในการอ่านวิเคราะห์แยกแยะตามเหตุผลที่จะพิจารณา แล้วสังเคราะห์กลั่นกรองเป็นผลสรุปออกมาได้อย่างมีที่มาที่ไป ฉะนั้นการศึกษาโหราศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องราวที่เหลวไหลไร้สาระหรือว่าเป็นเรื่องที่งมงายแต่อย่างใด กลับกันแล้วเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ศึกษาพบเห็นความเป็นจริงในแง่มุมต่างๆของชีวิตอย่างชัดเจน นอกเสียจากว่าจะทำให้โหราศาสตร์ถูกมองไปในทิศทางอื่น ที่ไม่ใช่ตามแนวทางของโหราศาสตร์ดังที่กล่าวมานี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องเกินวิสัยที่จะกล่าวหรืออ้างอิงถึงได้ เพราะเจตนาอย่างนั้นเป็นการทำให้โหราศาสตร์ “ไม่เป็น” โหราศาสตร์นั้นเอง

ธีรพร  เพชรกำแพง

สิ่งละอัน..วันละน้อย (9 พฤศจิกายน 2557)

ในการศึกษาโหราศาสตร์ท่านมักสอนเสมอว่าให้ทำตนเป็นผู้มีจิต "อ่อนน้อม" พร้อมที่จะศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลานั้นแหละเป็นการดี เพราะจิตอ่อนน้อมเป็นจิตที่ "ควรแก่งาน" มากกว่าจิตที่กระด้างอยากเรียนรู้เพื่อเสริมอัตตาของตนเองให้ใหญ่โตขึ้นไปว่า "ข้านี้ก็มีภูมิรู้"
การศึกษาในระบบรูปแบบของสายวิชาใดหรือครูบาอาจารย์ท่านใด หากจิตไม่อ่อนน้อมที่จะรับรู้ในหลักคิดดังกล่าวนั้น ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จในการศึกษานั้น เพราะมิได้มองจากจุดเดียวกันกับผู้ที่ถ่ายทอดเป้าหมายแห่งวิชานั้นๆ มิซ้ำจะพลอยว่าหลักการหรือหลักวิชานั้นไม่สามารถใช้ได้จริงไปเสียอีกด้วย เหตุเพราะจิตกระด้างกลายๆว่าอคติแต่เดิมเป็นทุน จึงยากที่จะซึมซับรับรู้ความรู้ที่อาจจะมีความแผกแปลกไปจากตนอย่างเป็นการเสียโอกาสที่น่าเสียดายยิ่ง เพราะความรู้ทางโหราศาสตร์นี้ไม่ว่าจะดีเด่นด้อยถอยค่าอย่างใดก็ตาม เมื่อรับรู้อย่างถี่ถ้วนด้วยจิตที่อ่อนน้อมแล้ว ความรู้นั้นย่อมมี "คุณค่า" เสมอ แม้จะเป็นเพียง "รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม" นั่นก็เป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในการที่จะมุ่งปฏิบัติตามหรือพัฒนาต่อยอดความรู้ให้แตกฉานมั่นคงขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เป็นภูมิรู้เชิงเปรียบเทียบ ดีกว่าปฏิเสธที่จะไม่รู้อะไรเอาเสียเลย

ความอ่อนน้อมในทางโหราศาสตร์ทำให้มองเห็นภูมิรู้ของท่านนั้นๆเป็นอย่างดี โดยเฉพาะครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี ดูเหมือนแม้ท่านไม่รู้อะไรแต่กลับเป็นผู้ทรงภูมิแตกฉานในการใช้วิชาทางโหราศาสตร์อย่างแท้จริง สมควรที่เราจะเอาเยี่ยงอย่างท่าน เพื่อเป็นบรรทัดฐานความดีงามของผู้ที่ก้าวเข้าสู่วงการโหราศาสตร์ในโอกาสต่อไป

ธีรพร  เพชรกำแพง