18 พฤศจิกายน 2556

ไขประเด็น..เห็นสาระ ตอน ไม่อยากได้ขัน แค่เคารพ

ไขประเด็น..เห็นสาระ ตอน ไม่อยากได้ขัน แค่เคารพ

คำถาม : “รับขันมาแล้วจำเป็นไหมจะต้องไปเสริม ตอนนี้ไม่อยากจะได้ขัน เพราะเราบูชาและปฏิบัติไม่ได้ ทำให้เราไม่สบายจิตใจเราคิดมาก ก็เลยอยากจะเคารพนับถือท่านด้วยใจไม่ใช่ขัน

คำตอบ :
        หากมิได้มีความประสงค์ที่จะรับขันธ์นั้น ครูอาจารย์ย่อมไม่สามารถประสิทธิ์ขันธ์ให้ได้ตั้งแต่แรก เพราะคนที่จะรับขาดความพร้อมในการยอมรับนับถือที่จะเอาขันธ์นั้นมาเป็นที่ตั้งแห่งการยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นสัจจะข้อศรัทธาปฏิบัติต่างๆในการดำรงขันธ์
        อย่างกรณีนี้ขันธ์ที่รับมาย่อมถือว่าเป็นโมฆียขันธ์ไปโดยปริยาย คือมีไว้เฉยๆ แล้วเจ้าตัวปฏิบัติไม่ได้ ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ทีนี้ตัววิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยทั้งในตัวเองและองค์ท่านก็จะมีมากขึ้น ไม่สบายใจ เป็นทุกข์กังวล การรับขันธ์นั้นมีขั้นตอนก่อนรับ เพื่อเป็นการย้ำแก่ผู้รับว่าสามารถรับไปและครองขันธ์นั้นได้ ต้องยอมรับโดยดุษฎีทั้งกาย วาจา ใจ หากไม่เป็นเช่นนั้น ครูบาอาจารย์จะไม่สามารถประสิทธิ์ขันธ์ให้ได้เลย
        ส่วนการเสริมขันธ์เป็นขันธ์ในระดับที่สูงขึ้นนั้น ความจริงไม่ต้องก็ได้ เป็นการเพิ่มภาระในการปฏิบัติมากขึ้น แล้วยิ่งเจ้าตัวยังมีกิจกังวลอื่นที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ แทนที่จะเป็นคุณจะกลับเป็นโทษในภายหลังได้ ส่วนการแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อครูบาอาจารย์นั้น เป็นสิ่งสมควร จะเป็นงานไหว้ครูประจำปี หรือโอกาสวาระต่างๆ ก็หาเวลาที่จะได้เข้าหาครูบาอาจารย์บ้าง เผื่อมีข้อแนะนำใดๆท่านก็จะได้ชี้แนะ ให้เราดำรงขันธ์ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกที่ควร
        แนะนำให้ปรึกษาครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ขันธ์ให้ท่านเป็นดีที่สุด เพื่อหาทางออกที่ถูกต้อง ไม่เป็นการ "ผิดครู" แก้ไขได้อย่างเหมาะสม ตามสมควรแก่สติกำลังที่เราจะยอมรับนับถือหรือปฏิบัติได้ ไปหาคนอื่นก็จะกลายเป็นมากหมอมากความไป แก้มันที่จุดเดิมนั้นแหละ ผู้ประสิทธิ์ขันธ์มาให้ย่อมต้องรู้ผูกรู้แก้ แต่ถ้าไม่รู้แสดงว่าไม่มีภูมิรู้ภูมิธรรมเพียงพอที่จะประสิทธิ์ขันธ์รับศิษย์ได้ ถ้าเป็นอย่างหลังนี้ก็ถือว่าแย่กันทั้งสองฝ่าย กอดคอกันจมน้ำไป
(        ที่ชาวบ้านเขาครหานินทาว่ารับขันธ์มาแล้ว วิตกจริต เป็นบ้าเป็นบอ ทำอะไรก็แย่ลง ครอบครัวไม่สงบสุข ฯ ก็เพราะเหตุอย่างกรณีนี้รวมอยู่ด้วย ความจริงผู้ประสิทธิ์ขันธ์ต้องมีญานหยั่งรู้เป็นทุนเดิมอยู่ก่อน ว่าเขารับได้หรือไม่ได้ มิใช่ว่าสักแต่จะยัดเยียดขันธ์ ที่แม้แต่ความหมายความเป็นมาของคำว่า "ขันธ์","การครองขันธ์",การดำรงขันธ์"ก็ยังไม่ทราบเลย แสดงว่าภูมิไม่ถึงบอกกล่าวไม่ได้ แล้วเขาจะนำอะไรไปปฏิบัติ พอชาวบ้านถามเข้าว่าขันธ์คืออะไร เอามาทำอะไร รับแล้วรวยขึ้นไหม ทำไมต้องรับ ฯลฯ เรียกว่าจนมุมจนแต้มที่จะตอบแล้ว อย่างนี้ถือว่าเป็น "โมฆียขันธ์") d

(โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)

ธีรพร  เพชรกำแพง

ไขประเด็น..เห็นสาระ

ไขประเด็น..เห็นสาระ ตอน องค์ไม่ลง..มือสั่น

ไขประเด็น..เห็นสาระ ตอน องค์ไม่ลง..มือสั่น

คำถาม : “ตอนเรารับขัน องค์เราไม่ลง เพราะองค์ไม่เคยลงมา แต่รู้สึกว่ามือสั่นๆ จะเป็นอะไรไหมครับ

คำตอบ :
        การรับขันธ์นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ๑.ภาคบุญฤทธิ์ เพื่อปกป้องรักษาคุ้มครอง ๒.ภาคอิทธิฤทธิ์หรือภาคลงทรง เป็นการลงประทับทรงเพื่อสงเคราะห์ผู้คน นี่เป็นกิจประสงค์ขององค์ท่านผ่านบุคคลผู้เคยมีบุญสัมพันธ์กันมาก่อน เพื่อร่วมสร้างกุศลต่อในชาตินี้
        กรณีจากประเด็นคำถามนี้ ตอนรับขันธ์องค์ไม่เคยลงประทับ แต่มือสั่น ..เป็นการแสดงด้วยอำนาจฤทธิ์ขององค์ท่านให้เรารับรู้ได้ว่า องค์ท่านมีอยู่จริงเป็นการตัดวิจิกิจฉาคือข้อลังเลสงสัยความคลางแคลงใจในขั้นตอนการรับขันธ์(หรือตอนที่ท่านต้องการสื่อให้เราทราบ) เพราะการรับขันธ์นั้นจะต้องยอมรับอย่างเต็มใจ(เรียกว่ายอมรับทั้งกาย วาจา ใจ โดยดุษฎี) และยอมรับว่าท่านมีอยู่จริง
        อาการอย่างนี้บางคนก็หาว กายสั่น ตัวสั่น มือสั่น ใจสั่น หน้ากระตุก คิ้วกระตุก มือไม้สั่น หน้าแดง ยิ้มปีติ หัวเราะ น้ำตาไหล ร้องไห้ เรอคล้ายอาเจียน สะอึก บางคนก็เฉยๆแต่เขาสัมผัสได้ ฯ คือท่านทำฤทธิ์ให้เห็นและยอมรับนับถือท่านว่ามีอยู่จริง เหตุแต่องค์ไม่ลงประทับแสดงว่าเป็นภาคบุญฤทธิ์ ท่านมาเพื่อปกปักรักษาคุ้มครองป้องกัน ชักนำโน้มดลใจให้ทำกุศลกรรม ตามบุญสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกันมา
        แต่อาการอย่างเดียวกันนี้ หากองค์ท่านทำฤทธิ์ถึงระดับหนึ่งจน ร่างกลางถึงภาวะที่เรียกว่า จิตพร่องนั้นแหละ จะเกิดการลงประทับขององค์ท่านขึ้นมา เรียกว่าภาคอิทธิฤทธิ์หรือที่เรามักเรียกกันว่า ภาคลงทรงซึ่งในภาคนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ไว้โอกาสต่อไปจะได้อธิบายบอกเล่าเก้าสิบสู่กันฟังในภายหลัง d

(โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)

ธีรพร  เพชรกำแพง
ไขประเด็น..เห็นสาระ



วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน พิธีกรรมอาบน้ำเพ็ญ

        พอดีมีท่านที่เปิดประเด็นในเรื่องวันเพ็ญเดือนสิบสอง ความว่า
        ถ้าผิดไปชำระกรรมกันนะ แสงจันทร์วันนี้จะชำระผ่อนหนักเป็นเบา       
        ด้วยตัวฉันเองก็ด้อยความรู้หรือจะขาดตกบกพร่องในเรื่องเหล่านี้ไป ว่า แสงจันทร์ชำระกรรม ได้อย่างไร? ท่านที่เปิดประเด็นก็มิได้เมตตาอธิบายขยายความให้ จึงขอพับไปไว้คิดต่อเมื่อมีโอกาส

        พอกล่าวถึงเรื่องนี้ ฉุกคิด ได้ถึงปูมปัญญาพิธีกรรมของบรรพชนไทยโบราณของเรา ที่ทราบความเป็นไปของวิถีธรรมชาติ ด้วยการสังเกต และนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้อย่างดี เรียกว่าโบราณท่านก็มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์มานานแล้ว เพียงแต่คนสมัยนี้เห็นว่าคร่ำครึของเก่า เลยมองเป็นไสยศาสตร์ไปแต่ถ่ายเดียว
        พิธีกรรมที่กล่าวถึงนี้ก็คือ พิธีอาบน้ำเพ็ญ หรือจะเรียกให้ง่ายตามประสา คือ การอาบน้ำมนต์ในคืนวันเพ็ญ(พระจันทร์เต็มดวง) ซึ่งเชื่อว่าเป็นพิธีที่ช่วยเสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เพิ่มพลังวาสนา ชะตาชีวิตให้ดีขึ้น
        ดูเหมือนเป็นความเชื่อในสมัยนี้ แต่โบราณท่านกลับรู้จริงอย่างน่าอัศจรรย์ใจนัก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของการดำเนินพลังงานธาตุในจักรวาลบรรจุเข้ามาสู่โลก ๓ ส่วนด้วยกัน คือ ดวงอาทิตย์เป็นต้นกำเนิดกระแสพลังงานแห่งจักรวาลส่งอิทธิพลไปทั่ว รวมถึงโลกเราก็ได้รับกระแสพลังงานที่ว่านี้ด้วย โดยผ่านดวงจันทร์เป็นตัวกรองกระแสบ่งบอกถึงการรับกระแสพลังงานนั้น แล้วกระแสพลังงานที่ว่านี้ก็เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งในโลกทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยเฉพาะกับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายกันเลยทีเดียว อย่างเช่น น้ำขึ้นน้ำลง การเกิดเป็นชีวิตของพืช(พลังงานบ่มเพาะ) การเจริญไปของธาตุอ่อนแข็งในตัวคน(หยินหยาง) ฯลฯ เป็นต้น
        พิธีกรรมอาบน้ำเพ็ญ เป็นการสังเคราะห์พลังภายนอกเข้าสู่ร่างกายและจิตใจของคน มีจิตตานุภาพจนเป็นชีวกำลังอานิสงส์อย่างที่เกริ่นกล่าวไว้ฉันใด ก็เหมือนกับทางวิทยาศาสตร์บอกว่ารับแสงแดดอ่อนตอนเช้าร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีบำรุงกระดูกฉันนั้น โดยต้องรวมกัน ๓ อย่าง คือ พิธีกรรม + ธรรมชาติ + คน(ร่างกายและจิตใจ)
        เรื่องนี้มิได้กล่าวอย่างเลื่อนลอยไร้เหตุผล แต่ที่มาที่ไปปรากฏมีอยู่ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เดิมนั้นจะจัดพิธีกรรมนี้ในวันเพ็ญเดือน ๓ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา ต่อมาจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ที่เห็นจะมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว คือ พิธีอาบน้ำเพ็ญของสายวัดสุทัศน์ ของสมเด็จพระสังฆราชแพ ติสฺสเทโว พิธีของท่านจะให้อาบกลางแจ้ง โดยรอฤกษ์ที่พระจันทร์ลอยเด่นอยู่กลางศีรษะ ในช่วงเวลานั้นจะพบว่าเงาของพระจันทร์ลอยอยู่กลางขันน้ำมนต์พอดี เพราะทุกครั้งที่พระจันทร์เต็มดวง แรงพลังอำนาจจากพระจันทร์จะทำให้น้ำในโลกถูกยกตัวสูงขึ้นกว่าธรรมดาทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกตามธรรมชาติ
        บางสำนักจะจัดให้มีพิธีสะเดาะเคราะห์สืบชะตา อธิษฐานบารมีจิตร่วมด้วย บางที่ท่านจะคำนวณเวลาเพ็ญจริงของดวงจันทร์ คือช่วงเวลาดวงอาทิตย์ตกและดวงจันทร์ขึ้น(ทางโหราศาสตร์เรียกว่าการเล็งกันหรือทำมุม ๑๘๐ องศา) เป็นองค์ฤกษ์ประกอบพิธีประสิทธิ์น้ำ และใช้องค์ฤกษ์เวลาดวงจันทร์ตรงศีรษะเป็นพิธีกรรมการอาบน้ำเพ็ญ
        สำหรับฉันถือว่า วันเพ็ญ เดือน ๑๒ นี้ เป็นวันที่ดวงจันทร์สังเคราะห์กระแสธาตุจากดวงอาทิตย์เข้าสู่โลกอย่างเต็มที่ สังเกตจากดวงจันทร์จะใหญ่มาก ตามสายวิชาของฉันจะประสิทธิ์น้ำพระพุทธมนต์อิงซึมซาบกระแสโลกธาตุ(ที่สังเคราะห์แล้วจาก อาทิตย์ จันทร์ และโลก)ในคืนนี้ โดยใช้ขันน้ำมนต์โลหะทรงบาตร ยิ่งได้ขันนวโลหะยิ่งดี หรือจะเป็นขันเงิน ขันทองเหลือง ขันนาก แต่ถ้าเป็นขันทองแดงให้ใช้รดน้ำมนต์เพื่อป้องกันอย่างเดียว(ห้ามดื่มกิน) เพราะโลหะแต่ละชนิดมีธาตุพิเศษอยู่ในตัว อย่างธาตุทองนี่รักษา ทองเหลืองส่งเสริม ทองแดงป้องกัน เป็นต้น พอได้องค์ฤกษ์ก็ประกอบขั้นตอนประสิทธิ์น้าพระพุทธมนต์ อาราธนาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เทพยุดา เหล่าพรหมเจ้า แลด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ อัญเชิญบารมีท่านมาประสิทธิ์ประสาทเป็นน้ำพระพุทธมนต์ไว้สงเคราะห์ชนทั้งหลาย(อย่าลืมหัวใจสำคัญของการทำน้ำมนต์ ๔ บทหลักต้องท่องบรรจุไว้ด้วย) เป็นพิธีกรรมที่สำคัญสำหรับฉันอย่างหนึ่งที่ทำเพียงปีละครั้งเท่านั้น.

ธีรพร  เพชรกำแพง
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ที่มาของการเขียนบทความ : จากกลุ่มสมาคม ร่างทรงแห่งสยามประเทศ(facebook) เห็นโพสต์อะไรแปลกๆ แล้วอยากให้ความจริงละอัตตา(ปราบพยศ)บ้าง

6 พฤศจิกายน 2556

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน รำพึงรำพัน...คิดถึงทักษา

หาเวลามาบ่นพึมๆพำๆ

...ทักษาและมหาทักษานั้น ความจริงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใส่ใจในการที่จะศึกษา เพื่อให้จำ ตรึก ตรอง และคิดประสมคำพยากรณ์ออกมาชัดเจนและตรงประเด็นจากโครงสร้างดวงชะตา

...แต่ผู้ศึกษาประเดี๋ยวนี้กลับมองว่าหยาบไม่ลึกซึ้งเพียงพอ ซ้ำยังมีกฏเกณฑข้อแก้ข้อห้ามข้อยกเว้นอะไรต่างๆอีกมากมาย ซึ่งความจริงเรื่องเกร็ดเกณฑ์ทักษานั้น ครูบาอาจารย์ในชั้นหลังท่านใช้แล้วดีจึงมีมติไว้ใช้ต่อกันมา

...ทักษาว่าด้วยกระแสธรณีธาตุล้วน ที่มีตั้งมาอยู่ก่อน โบราณรู้เหตุสังเกตอาการความเป็นไปไว้ จึงแยกพฤติการต่างๆไว้โดยมีตัวแทนคือดาว แล้ว/หรือรวมเข้าจากความเป็นไปของพิภพนี้แต่ละด้านเข้าไว้โดนมีสิ่งบ่งบอกตัวแทนก็คือดาวนั้นอีก กระแสแห่งทักษาจึงเป็นสองอย่างที่เคยกล่าวไว้ครับ

ธีรพร  เพชรกำแพง
๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖