...มีเหตุผลหลายประการที่ฉันไม่อาจตั้งตัวเองเป็นครูบาอาจารย์ทางโหราศาสตร์ได้
ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เห็นว่าตนเองนั้นความรู้ความสามารถยังไม่ถึงขั้นที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ที่มีอยู่ให้ใครได้
อีกประการมาจากการที่ได้เห็นพ่อทวดเองก็มิได้ตั้งตัวเองเป็นครูบาอาจารย์เลย
แต่ปรากฏว่าลูกศิษย์ลูกหาของท่านมีมาก ทั้งที่เป็นพระและฆราวาสต่างมาฝากตัวเป็นศิษย์ของท่าน
เพราะต่างเห็นปฏิปทาความรู้ความสามารถอัธยาศัยน้ำใจของท่านเป็นสำคัญ
ที่กล่าวนี้มิได้หมายเอาตัวเข้าเทียบเคียงกับพ่อทวด ซึ่งฉันเองความรู้ความสามารถไม่หาญกล้าที่จะคิดและทำได้อย่างพ่อทวด
อาศัยเหตุว่าท่านเป็นบุพพาจารย์ในตระกูลจึงเจริญตามรอยท่าน
เพื่อสืบทอดความรู้ไว้ไม่ให้สูญหายไปในช่วงชีวิตของฉัน
...หากแต่มีคนขานฉันว่า “อาจารย์” นี้ ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้
เพราะเขาใช้เป็นสรรพนามเรียกต่างแทนตน แต่ก็ทำให้ฉันต้องประพฤติตนให้งามตามความหมายของคำว่า
“อาจารย์” คือ อาจาร + อริยะ เป็นผู้มีความประพฤติ(อาจาระ)มุ่งพัฒนาตนให้เจริญขึ้น(อริยะ)
ซึ่งก็หนีไม่พ้นปฏิปทาของพ่อทวดที่นำมาเป็น “แบบอย่าง” จนกลายเป็น “แบบแผน” การปฏิบัติในด้านการดำรงโหราศาสตร์เรื่อยมา
และฉันเองก็มีอัธยาศัยถูกจริตกับการประพฤติปฏิบัติแบบนี้เป็นรากฐานมาตั้งแต่เด็ก
ถือว่าซึมซับเข้าสู่สายเลือดจนกลายเป็นปกติวิสัยของตนไปแล้วก็ว่าได้
...ความสุขของการมีธาตุแห่งการสอน(นำเสนอ)นี้
จึงทำให้ฉันตั้งใจตรึกตรองถนอมวิชาความรู้
แล้วกลั่นกรองว่าถูกต้องดีงามมาเผยแพร่แก่ท่านทั้งหลาย
ในฐานะของผู้ที่ต่างก็ศึกษาวิชาโหราศาสตร์เหมือนกัน เป็น “สหโหรามิก”
ที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยจิตที่อ่อนน้อมซึ่งกันและกัน
ตามวิถีทางที่โหรโบราณท่านกระทำสืบต่อกันมานั้นเอง