7 ตุลาคม 2556

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน รำพึงรำพัน...เก็บเล็กๆเล่าขาน

โหราศาสตร์ไทย เป็นการศึกษาประเภทเรียนรู้บ่มเพาะหลักวิชา ความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนในการเรียนรู้และนำไปใช้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาในระดับพื้นฐานให้ได้ทราบความเป็นมา ที่มาที่ไป สิ่งใดมีอยู่ไว้เพื่ออะไร ฯ จากนั้นก้าวขึ้นสู่ระบบทางโหราศาสตร์ไทยว่ามีการบัญญัติข้อพิจารณาปัจจัยโครงสร้างว่าใช้อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร ตามหลักวิถีวงจรธรรมชาติ ตรงนี้มีระบบหลายอย่างที่สร้างขึ้นต่อเนื่องจากการศึกษาในชั้นพื้นฐาน และระบบที่สร้างใหม่ด้วยความเข้าใจในขั้นระบบนั้นแล้ว เมื่อมีความคล่องตัวในการใช้โหราศาสตร์ไทยมากขึ้นจนถึงขั้นประยุกต์ ในชั้นนี้สามารถที่จะโยกเอาหลักการวิธีในการพยากรณ์มาสอบทวนหาเหตุผลทางการพยากรณ์ เป็นส่วนที่อาศัยประสบการณ์ในสองขั้นที่แล้วและการผ่านการพิจารณาดวงชะตามาพอสมควร จนรู้ว่าดวงชะตาใดควรวิเคราะห์พิจารณาในลักษณะใด โดยไม่หลุดไปจากความเป็นเหตุเป็นผลที่อยู่ในขั้นตอน ๓ ขั้นทางโหราศาสตร์ไทย
นักโหราศาสตร์ไทยรุ่นเก่ามักจะต้องปรับความรู้ความเห็นทัศนคติของผู้เป็นศิษย์อยู่เนืองๆ เพื่อไม่ให้หลุดไปจากกรอบความคิดทางโหราศาสตร์ไทย เพราะเหตุที่ว่าในการศึกษานั้นขั้นตอนทั้ง ๓ ขั้นนั้นย่อมเห็นอยู่ลางๆเป็นสิ่งล่อใจให้นักศึกษาเกิดความวิปลาส(ความเข้าใจคลาดเคลื่อน)และยึดเป็นอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้)ขึ้นมา ท่านจึงต้องชำระความเข้าใจให้ศิษย์ได้เห็นความเป็นไปของทิศทางเอกลักษณ์โหราศาสตร์ไทยอยู่เสมอ โดยสิ่งที่ท่านนำมาปรับเจตคติให้ศิษย์เห็นความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ตลอดนั้นก็คือ โครงสร้างดวงชะตา เป็นการแสดงภูมิบำหราบจิตที่ทะเยอทะยานเกินความพอดีหรือรีบเร่งที่จะเจนจบทางหลักวิชา การแสดงเหตุผลทางโครงสร้างดวงชะตานั้น ทำให้ผู้ศึกษาเมื่อเห็นทราบเข้าใจตามที่ท่านชี้แนะแล้ว ย่อมไม่ยึดติดหรือหลงไปกับสิ่งประดับในทางปลีกย่อย เช่น มาตรฐานดาว รูปตัวอย่างดวงชะตา ไม้เด็ดเคล็ดลับต่างๆเป็นต้น เพราะเหตุที่เห็นโครงสร้างดวงชะตาอันเป็นของจริง ข้อวิเคราะห์พิจารณาย่อมชัดเจนเป็นเหตุเป็นผลต่อกันในทุกแง่มุม เมื่อชำนาญแล้วจะหยิบจับเรื่องใดเข้ามาสวมเสริมพิจารณาด้วยก็มิใช่เรื่องยากอันใด ซ้ำจะเป็นการรู้ด้วยว่าสิ่งใดใช้ร่วมกันได้หรือสิ่งใดเข้ากันไม่ได้ เป็นการง่ายในการหาข้อยุติทางหลักวิชาเพื่อให้สอดคล้องต้องกันอย่างเหมาะสมกับการพยากรณ์นั้นเอง

ธีรพร  เพชรกำแพง

๘ ตุลาคม ๒๕๕๖