14 มิถุนายน 2557

ภาคคำนวณสุริยยาตร ... อธิบายศัพท์

อธิบายศัพท์

          ในตอนที่แล้วมา ว่ากันด้วยเรื่องของการทำอัตตาเถลิงศกและอัตตากำเนิดหรืออัตตาประสงค์ ซึ่งคงจะมีศัพท์ที่ผู้ศึกษาอ่านแล้วไม่ค่อยจะเข้าใจว่าศัพท์ใดหมายความว่าอย่างไร ฉะนั้นก่อนที่จะขึ้นไปสู่เรื่องอื่น ก็จะขอนำเอาศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณในเบื้องแรกนี้มากล่าวไว้ก่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอันอาจจะมีเกิดขึ้นได้
          หรคุณ คือ จำนวนวันตั้งแต่จุลศักราช ๐ หรือการเริ่มต้นศักราช จนถึงวันเถลิงศกหรือวันประสงค์ที่ต้องการจะทราบ
          กัมมัชพล คือ หน่วยการโคจรของดวงอาทิตย์ โดยที่ ๑ วัน มี ๘๐๐ กัมมัชพล เมื่อดวงอาทิตย์โคจรครบรอบจักรราศี(๓๖๐ องศา) จะมีกัมมัชพลถึง ๒๙๒๒๐๗ กัมมัชพล
          มาสเกณฑ์ คือ เดือนจันทรคติตามคัมภีร์สุริยยาตร โดยที่ ๓๐ ดิถี เป็น ๑ มาส และ ๑๒ มาส เป็น ๑ ปี
          ดิถี คือ วันตามการโคจรของดวงจันทร์
          อวมาน คือ หน่วยการโคจรของดวงจันทร์ โดยที่ ๖๙๒ อวมาน เป็น ๑ ดิถี วันหนึ่งจันทร์โคจรได้ ๗๐๓ อวมาน และ ๗๐๗๖๐ ในรอบจักรราศี(๓๖๐ องศา)
          อุจจพล คือ จุดเคลื่อนที่บนท้องฟ้าที่บังคับการโคจรของแกนโลกและดวงจันทร์ให้สัมพันธ์กัน อุจจพลเคลื่อนที่ ๑ รอบใช้เวลา ๓๒๓๒ วัน
          วาร คือ วันทั้ง ๗ ในสัปดาห์
          สุทิน หรือ สุรทิน คือ จำนวนวัน โดยนับจากวันเวลาเถลิงศกถึงวันที่ต้องการหรือวันประสงค์ ในทางคำนวณก็คือ วันประสงค์ – วันเถลิงศก = สุรทิน ก่อนที่จะคำนวณอัตตาประสงค์ การนับสุรทินให้ถูกต้องนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้การคำนวณทุกอย่างมีความถูกต้อง หากนับสุรทินผิดเสียแต่อย่างเดียวแล้ว การคำนวณอย่างอื่นย่อมผิดหมด และเป็นการเสียเวลาเสียอารมณ์เมื่อคำนวณไปครึ่งไปค่อนหรือสำเร็จแล้วมารู้ว่าผิดในภายหลัง
          ฐานสูง ฐานต่ำ ในตำราคำนวณเก่าๆ เราจะเห็นว่ามักมีการแบ่งส่วนคำนวณออกเป็น ๒ ส่วน เพื่อใช้ในการคำนวณที่ต่างกัน คือเลขเดียวกันแต่แบ่งออกเป็นการคำนวณสองครั้ง เช่น ครั้งหนึ่งเลขนั้นใช้หาอวมาน อีกครั้งหนึ่งเลขนั้นใช้หาดิถี เป็นต้น
          ในตอนต่อๆไปศัพท์การคำนวณมีมากและหลากหลาย แต่ศัพท์หลักๆที่อยากให้จดจำไว้คือศัพท์ชุดที่ทำอัตตาเถลิงศกและอัตตากำเนิดนี้เอง

ธีรพร  เพชรกำแพง
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๗