8 กุมภาพันธ์ 2557

ปฏิจจสมุปบาทและเรือนชะตาในโหราศาสตร์ไทย


ปฏิจจสมุปบาทและเรือนชะตาในโหราศาสตร์ไทย
          ปฎิจจสมุปบาท ท่านหมายถึงการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน,ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม,การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดมีขึ้น,สิ่งนี้มี จึงมีสิ่งนี้
          โหราศาสตร์เราก็เช่นกัน มีปัจจัยพยากรณ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโยงใยไปมาตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งครูบาอาจารย์เก่าๆ ท่านเป็นปราชญ์ทั้งโหราศาสตร์และพระพุทธศาสนา ได้เห็นผลอันเลิศจากการนำเอาความรู้ในปฏิจสมุปบาทมาหลอมรวมกับความรู้ทางโหราศาสตร์ไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ฉันจึงขอนำสิ่งที่จดจำมาเล่าสู่กันฟังพอสังเขปดังนี้
          ท่านกล่าวว่า เรื่องของดวงปฏิจจสมุปบาทนั้นมีอยู่ในตำราจักรทีปนี คัมภีร์พฤหัสบดีจักร ซึ่งเป็นบทว่าต่อมาจากคัมภีร์ภวชาติและดวงคัพพปักกมูล ซึ่งเป็นบทโหราศาสตร์ที่ท่านเอาไว้ใช้ พยากรณ์
๑.ดวงมูลกำเนิด
๒.ตรวจสอบเกณฑ์ชะตาตั้งแต่เริ่มจุติลงในครรภา แล้วแยกไปเป็นดวงสามัญ ดวงกษัตริย์ ดวงปราบดาภิเษก (ต้องใช้ประกอบกับคัมภีร์อื่น เช่น คัมภีร์อสีติธาตุ,คัมภีร์ราชมัญตัญ)
๓.ดูดวงชะตาพระสงฆ์ ในบทพยากรณ์เก่าๆ จะกล่าวถึงโดยเฉพาะว่า จะสึกได้หรือไม่ จะสึกปีใด จะบวชทนหรือไม่ จะคู่ควรกับสมณานุรูปหรือไม่
          ทั้งนี้ขอยกคำปรารภของพระสารประเสริฐ(ตรี นาคะประทีป) ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) วัดราชประดิษฐ์ มากล่าวไว้บางส่วน ดังนี้
เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังเทศน์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านเจ้าโต แสดงดาว ๑๒ นักษัตรว่าเป็นต้นทางแห่งจตุราริยสัจ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยทรงหยั่งพระญาณในปัจจยาการทั้ง ๑๒ประการ แล้วนำมาใคร่ครวญถึงลักษณะโลกธาตุอันมีดาวเคราะห์โคจรใน ๑๒ ราศี ว่าคงจะอยู่ในข่ายปัจจยาการ คือปฏิจจสมุปบาทนั้นเอง แต่ก็เป็นการคิดเล่นๆ มิได้ลงมติจริงจังอย่างไร ครั้นมารับหน้าที่ทำหนังสือในงานนี้ จึงได้เรียบเรียงเป็นหนังสือโลกธาตุขึ้น มีปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นหัวข้อ บรรจุความรู้ง่ายๆ ในโหราศาสตร์ โดยวิธีลำดับข้อความหน้าหลังตามแนวปฏิจจสมุปบาทนั้น
ท่านจำแนกแจกแจงถึงปฏิจจสมุปบาทและเรือนในโหราศาสตร์ไทยไว้ ดังนี้
เรือนที่ ๑ ดนุ คือตัว อวิชชา เป็นจุดทำให้เกิดชีวิตขึ้นมา เป็นชีวิตทั้งชีวิต จุดวางลัคนา
เรือนที่ ๒ กดุมภะ คือตัว สังขาร การปรุงแต่ง ตัวแสวงหา
เรือนที่ ๓ สหัสชะ คือตัว วิญญาณ ตัวรับรู้ สรรพสิ่งที่จรมา เหมือนเพื่อนที่เข้ามามีดีมีชั่ว
เรือนที่ ๔ พันธุ คือตัว นามรูป คือเรือนร่าง กายใจ
เรือนที่ ๕ ปุตตะ คือตัว สฬายตนะ จุดติดต่อให้เกิด จะเกิดบุตรได้ เกิดการกระทำที่ใหม่ๆ
เรือนที่ ๖ อริ คือตัว ผัสสะ จุดที่ทำให้เกิดปัญหา ปัญหาเกิดจากตัวกระทบ
เรือนที่ ๗ ปัตตนิ คือตัว เวทนา ตัวนี้คือ จุดที่ทำให้มีชีวิตคู่ ความรู้สึก ทำให้หลงติด
เรือนที่ ๘ มรณะ คือตัว ตัณหา  ที่ส่งผลให้ชีวิต เหมือนตายแล้ว อยากจนตัวตาย
เรือนที่ ๙ ศุภะ คือตัว อุปาทาน ความยึดทุกอย่างทำให้มีความสุข
เรือนที่ ๑๐ กัมมะ คือตัว เรือน ตัวสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง กรรมเรือน เรือนคือกรรม
เรือนที่ ๑๑ ลาภะ คือตัว ชาติ การได้มา การเกิดขึ้น คือตัวลาภ ได้สิ่งที่ถูกใจ
เรือนที่ ๑๒ วินาสน์ คือตัว ชรามรณะ สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่มองไม่เห็น ตัวทำลาย
ท่านอธิบายถึงการอ่านดวงปฏิจจสมุปบาทนั้นว่า ให้ดูจากตรีเกณฑ์(ตรีโกณ) แล้วจึงพิจารณาการโยคถึงกันอีก จะเห็นความสัมพันธ์ของความหมายตามเรือน หรืออาจไม่ต้องใช้เรือน ให้อ่านตามศัพท์บัญญัตินั้นได้เลย ดังนี้
พิจารณาตรีเกณฑ์(ตรีโกณ)
กลุ่มที่หนึ่ง คือ เรือนที่ ๑ อวิชชา , เรือนที่ ๕ สฬายตนะ , เรือนที่ ๙ อุปาทาน
กลุ่มที่สอง คือ เรือนที่ ๒ สังขาร , เรือนที่ ๖ ผัสสะ , เรือนที่ ๑๐ กรรมะ
กลุ่มที่สาม คือ เรือนที่ ๓ วิญญาณ , เรือนที่ ๗ เวทนา , เรือนที่ ๑๑ ชาติ
กลุ่มที่สี่ คือ เรือนที่ ๔ นามรูป , เรือนที่ ๘ ตัณหา , เรือนที่ ๑๒ ชรามรณะ
แล้วพิจารณาการโยคถึงกันของกลุ่มที่หนึ่งกับกลุ่มที่สามชุดหนึ่ง และกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สี่อีกชุดหนึ่ง
          ปฏิจจสมุปบาทนั้นมีข้อยากอยู่ ๓ ประการคือ ยากที่ผู้เรียนจะมีความเข้าใจ ยากที่ตัวเนื้อหาสาระธรรม และยากที่จะถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจ จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาหลักธรรมคือปฏิจจสมุปบาทนี้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ระดับหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงนำมาเข้าเรื่องควบรวมกับโหราศาสตร์ไทย เมื่อมีความคล่องตัวชำนาญดีแล้ว ไม่ว่าจะจับส่วนใดของดวงชะตาขึ้นมา ก็สามารถโยงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องได้ทั่วทั้งดวงชะตา ดังที่ฉันเคยเปรียบเปรยให้ทราบอยู่เสมอๆ ว่า จับขอบสว่นใดของกระด้ง ก็รู้อยู่ว่าเป็นกระด้ง นั้นเอง

ธีรพร  เพชรกำแพง

รำลึกเนื้อความ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗