เกร็ดความรู้เรื่องคราส
จากคัมภีร์โบราณ
เรื่องคราสนั้นต้องขอเท้าความเพื่อให้เข้าใจกันก่อน
ว่าในคัมภีร์โบราณ(ปุราณะ) อันเป็นที่รวบรวมทั้งดาราศาสตร์ โหราศาสตร์
และเทพนิยายนั้น ได้แบ่งปุราณะออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ มหาปุราณะ และ อุปปุราณะ
มีประเภทละ 18 คัมภีร์ รวม 36 คัมภีร์ โดยกล่าวถึงชื่อ(ศัพท์)
ของคำว่าคราสไว้ดังนี้
1.ครัส(ครสุ)
หมายถึง กลืนกิน, ถือเอา, จับกุม
2.ครหะ หมายถึง ดาวเคราะห์ต่างๆ
ในระบบสุริยจักรวาล ซึ่งก็รวมพระอาทิตย์ไว้ด้วย, การถือเอา, การจับ, การเข้าถือสิทธิ์, การสู้รบ,
ความเพียรพยายาม, ความตั้งใจ
3.ครหณะ
หมายถึง การพันธนาการ, การกักขัง, การผูกล่ามติด,
การจับ, ตกลงยินยอม, สัญญา,
อวัยวะรับความรู้สึก
4.คราสะ
หมายถึง อาหารคำหนึ่งๆ, การจับกุม, การเข้าครองสิทธิ์โดยพลการ,
การทำให้มืดมัว, การบดบังแสง, การเป้นฝ่ายตรงข้าม
5.ครัสตะ
หมายถึง การกลืนกิน, การครอบงำของปิศาจ
6.โสปัปลวะ(โสปัปลพะ)
หมายถึง การที่พระอาทิตย์ หรือ พระจันทร์อยู่ในเงาของคราส
7.ปราคะ
หมายถึง เกสรของดอกไม้, ฝุ่นละออง, ไม้จันทร์หอม,
เกียรติยศชื่อเสียง, การยกย่องสรรเสริญ,
ทาสแห่งอารมณ์, การถูกบดบัง
8.อุปปะลวะ(อุปปะลพะ)
หมายถึง การต่อสู้โดยไม่ใช่อาวุธ, ราหู, การเข้าบดบัง
9.อุปสรรชนะ
หมายถึง การเคลื่อนเข้ามา, การเข้าหาอย่างฉับพลัน,
ผู้แทนที่, ลางร้าย
10.
อุปราคา หมายถึง ความทุกข์ทน, ความเศร้าหมอง, การกระทำอันผิดประเพณี, มารยาทอันไม่ดี, การนินทา, การใส่ร้าย, การทำให้มืดมัว,
การเสียเกียรติ
ลางร้ายแห่งคราส(แบบมหาภาค)
คราสนั้นถือเป็นปรากฏการณ์
ซึ่งในปุราณะเรียกว่า “อามะนายะอุตปาตะ” อันถือว่าเป็นลางบอกเหตุร้าย
ซึ่งเชื่อถือกันมาแต่ครั้นโบราณกาล โดยจะนำมาซึ่งเรื่องร้ายอันยิ่งใหญ่ 5 ประการ
(วยโตปาต หรือ อีติ) แก่บ้านแก่เมือง ดังนี้
อนาวฤษฏี
–
ทำให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล อากาศแห้งแล้ง
อติวฤษฏี
–
ทำให้เกิดฝนตกมากเกินไป จนเกิดน้ำท่วมดินถล่ม
ทุรภิกษะ
–
เกิดยุคข้าวยากหมากแพง อดอยาก ภัยอันเกิดจากผู้นำ
กีฏะภยะ – เกิดหนอน หรือ แมลง เข้าทำลายพืชในไร่นาสวน
สหมรณา – เกิดการตายหมุ่ของประชาชน เช่น เกิดสงคราม, เกิดโรคระบาด,
เกิดแผ่นดินไหว, เกิดพายุพัดถล่มบ้านเมือง,
ไฟป่าขนาดใหญ่
ความสำคัญของสุริยคราส
สุริยคราส
คือ การที่พระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรมาอยู่ร่วมในจุดเดียวกันบนเส้นระวิมรรค
แล้วมีราหุ หรือ เกตุเข้าร่วม
พระอาทิตย์นั้นเป็นดาวฤกษ์ซึ่งมีแสงในตัวเอง
เมื่อดาวใดก็ตามโคจรเข้าไปใกล้พระอาทิตย์แล้วนั้น
ดาวดวงนั้นก็จะถูกแสงของพระอาทิตย์บดบัง
แต่พระอาทิตย์เองซึ่งสามารถส่งแสงบดบังดาวต่างๆ
ได้นั้นก็กลับถูกบดบังแสงในชั่วขณะได้เช่นกันด้วยอิทธิพลของสุริยคราสนั่นเอง
(ถูกพระจันทร์โคจรเข้ามาบดบังแสง)
นั่นเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เป็นไป
แต่ในทางโหราศาสตร์กับมองว่าการเกิดคราสนั้นย่อมมีผลกับโลก
ถ้าจะมองในแง่วิทยาศาสตร์แล้วในระหว่างเกิดสุริยคราสนั้นย่อมทำให้เกิดอากาศเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน
ส่วนทางโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า
สุริยคราสนั้นมีอิทธิพลมากกว่าจันทรคราส
โดยถ้าพระอาทิตย์ดับน้อยผลกระทบกับสรรพชีวิตบนโลกก็น้อยไปตามส่วน
ถ้าพระอาทิตย์ดับมากเท่าใดก็จะมีผลต่อสรรพชีวิตบนโลกมากเท่านั้น
แล้วในคัมภีร์ยังกล่าวต่ออีกว่าถ้าพระอาทิตย์นั้นเกิดคราสในเวลาเที่ยงวัน
(ณ จุดศิโรพินทุ หรือ จุดบนศีรษะ)
แล้วนั้นคราสนั้นย่อมส่งมีอิทธิพลแก่สรรพชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ฉะนั้นให้สังเกตว่าสุริยคราสนั้นเกิดในช่วงเวลาใด ความหนักเบาก็แบ่งไปตามสัดส่วน
อาทิเช่น เกิดในช่วงรุ่งเช้า หรือ ช่วงเย็นใกล้พระอาทิตย์อัสดงคราสนั้นก็ส่งผลน้อย, ถ้าเกิดในช่วงเวลาสายๆ หรือ ช่วงบ่าย คราสนั้นก็ส่งผลปานกลาง
แต่ถ้าเกิดในช่วงเที่ยงย่อมให้ผลรุนแรง
*หมายเหตุ – คราสช่วงเช้า –
สาย ให้ถือว่าให้ผลน้อยกว่าคราสช่วงบ่าย – เย็น
สุริยคราสนั้นให้ผลรุนแรงกว่าจันทรคราส
และในคัมภีร์ยังกล่าวไว้อีกว่า “คราสของพระอาทิตย์ที่เกิดขึ้นในตำแหน่งที่ใกล้กับราหูนั้นย่อมมีอิทธิพลรุนแรงมากกว่าคราสของพระอาทิตย์ที่เกิดขึ้นในตำแหน่งที่ใกล้กับเกตุ”
และ “คราสของพระจันทร์ที่เกิดขึ้นในตำแหน่งที่ใกล้กับเกตุนั้นย่อมมีอิทธิพลรุนแรงกว่าคราสของพระจันทร์ที่เกิดขึ้นในตำแหน่งที่ใกล้กับราหู”
คราสให้ผลแก่ดวงชะตา
การเกิดคราสนั้นให้พิจารณาจุดอมาวสีของคราส
(จุดศูนย์กลางของการเกิดคราส) นั้นเป็นหลัก
ว่าจุดอมาวสีของคราสนั้นไปต้องกับดาวดวงใดในดวงชะตาบ้าง อันมีผลในการทำนายดี หรือ
ร้าย ตามลักษณะของดาวดวงนั้นๆ
จุดสำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ
คือ ถ้าจุดอมาวสีของคราสนั้นทับลัคนา, ทับพระอาทิตย์ หรือ
เล็งลัคนา, เล็งพระอาทิตย์ ในดวงชะตากำเนิด (ไม่เกิน 3 องศา
20 ลิปดา) คราสนั้นย่อมส่งแก่ดวงชะตาเป็นอย่างมาก ยิ่งถ้าสนิทองศา (ไม่เกิน 1
องศา) ย่อมส่งผลแก่ดวงชะตานั้นๆ มากที่สุด
แต่ถ้าจุดอมาวสีของคราสนั้นไปต้องกับดาวอื่นๆ
ในดวงชะตา จะมีอิทธิพลมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าดาวเคราะห์ในดวงชะตากำเนิดนั้นๆ
อยู่ใกล้เส้นระวิมรรคเพียงใด
ถ้าดาวเคราะห์นั้นๆ
(อังคาร,
พุธ, พฤหัส, ศุกร์,
เสาร์, ฯลฯ)
ไม่ได้อยู่ใกล้เส้นระวิมรรคของคราสเลย
แม้จุดอมาวสีของคราสจะต้องโดนตำแหน่งของดาวเคราะห์ในดวงชะตากำเนิด ก็จะไม่ส่งผลแก่เจ้าชะตามากนัก
ครัสตพินทุ (จุดเกิดคราส)
คราสนั้นมีด้วยกัน
2 ประเภท คือ สุริยคราส กับ จันทรคราส
ฉะนั้นในวันที่เกิดคราสเราจำต้องรู้เสียก่อนว่าพระอาทิตย์ หรือ
พระจันทร์นั้นสถิตอยุ่ในราศีใด กี่องศา กี่ลิปดา
โดยจุดที่เกิดคราสอย่างเต็มที่ตรงนั้นเรียกว่า “ครัสตพินทุ”
ถ้าจุดครัสตพินทุนั้นไปต้องกับดาวใดในดวงชะตากำเนิดโดยห่างจากดาวดวงนั้นๆ
ไม่เกิน 1 องศา
ย่อมแสดงว่าคราสที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นย่อมมีอิทธิพลต่อดวงชะตาอย่างเต็มที่
ถ้าจุดครัสตพินทุนั้นอยู่ห่างจากดาวในดวงชะตากำเนิดนั้นๆ
มากกว่า 1 องศา แต่น้อยกว่า 3 องศา 20 ลิปดา
คราสที่เกิดขึ้นนั้นย่อมมีอิทธิพลต่อดวงชะตาเพียงครึ่งเดียว
ถ้าจุดครัสตพินทุนั้นอยู่ห่างจากดาวในดวงชะตากำเนิดนั้นๆ
มากกว่า 3 องศา 20 ลิปดา แต่น้อยกว่า 5 องศา
คราสที่เกิดขึ้นนั้นย่อมมีอิทธิพลต่อดวงชะตาเพียงหนึ่งในสี่ส่วน
ถ้าจุดครัสตพินทุนั้นอยู่ห่างจากดาวในดวงชะตากำเนิดนั้นๆ
มากกว่า 5 องศาขึ้นไป คราสที่เกิดขึ้นนั้นย่อมไม่มีอิทธิพลต่อดวงชะตาเลย
ยกเว้นจะมีกรณีอื่นๆ มาเพิ่มความรุนแรง
อศุภมหาราศี หรือ ทุสถานะร่วม
ดาวทุกดวงรวมทั้งลัคนานั้น
ย่อมมีทุสถานะด้วยกันทั้งสิ้น คือ ภพที่ 6 (อริ), ภพที่ 8 (มรณะ) และ
ภพที่ 12 (วินาส) ซึ่งตามความเข้าใจแบบธรรมดาแล้ว
เรามักจะเข้าใจกันว่าภพทุสถานะนั้นเกิดจากตำแหน่งที่สถิตของลัคนาเพียงอย่างเดียว
แต่ในความเป็นจริงดาวทุกดวงในชะตากำเนิดก็มีภพทุสถานะของตัวเองเช่นกัน
อาทิเช่น
ดาวอังคาร (๓) ในดวงชะตากำเนิดสถิตอยู่ราศีเมษ
ดังนั้นภพทุสถานะของดาวอังคารในดวงกำเนิด ก็จะเป็นราศีดังนี้ คือ ราศีกันย์
(ราศีที่ 6 ของดาวอังคาร), ราศีพิจิก (ราศีที่ 8) และ
ราศีมีน (ราศีที่ 12)
อศุภมหาราศีนี้มีความสำคัญมากในการพิจารณาดวงชะตากำเนิดอันเกี่ยวกับคราสในเวลาต่างๆ
ที่เกิดขึ้น โดยอศุภมหาราศีนั้นจะคำนวณจากตำแหน่งของ พระอาทิตย์ (๑), พระจันทร์ (๒) และ ราหู (๘) ในดวงชะตากำเนิดเป็นหลัก โดยดูว่าดาวทั้ง 3
นี้มีทุสถานะร่วมกันทั้ง 3 ดวงในราศีใด ราศีนั้นจะได้ชื่อว่า “อุศภมหาราศี” ซึ่งแม้จะเกิดครัสตพินทุ ณ
ราศีนั้นผลของคราสก็จะไม่รุนแรง หรือ อาจไม่เกิดเลยก็ได้
ตัวอย่าง
ดวงชะตากำเนิด
พระอาทิตย์ (๑) กับ ราหู (๘) สถิตราศีกุมภ์ และ พระจันทร์สถิตราศีเมษ
ดังนั้นจะเห็นว่า จุดทุสถานะของดาวทั้ง 3 ที่อยู่ร่วมกันได้แก่ ราศีกันย์
ดังนั้นถ้าเกิดครัสตพินทุในราศีกัน เจ้าชะตานั้นจะได้รับผลร้ายของคราสเพียงเบาบาง
หรือ ไม่ส่งผลเลยก็ได้
การสลับเรือนของดาวในดวงชะตากำเนิด
มีผลต่อครัสตคราส
ถ้าในดวงชะตากำเนิดมีดาวสลับเรือนซึ่งกันและกัน
หรือ ดาวมากกว่า 2 ดวงสลับเรือนกัน (อาทิอาทิตย์ (๑) ไปอยู่ราศีเมษ
ซึ่งเป็นเรือนของดาวอังคาร (๓), ดาวอังคาร (๓)
ไปอยู่ราศีธนู ซึ่งเป็นเรือนของดาวพฤหัส (๕) และดาวพฤหัส (๕) ไปอยู่ราศีสิงห์
ซึ่งเป็นเรือนของพระอาทิตย์ ซึ่งมักเรียกกันว่า “ปริวรรตเกษตร”
เป็นต้น)
ในกรณีเช่นนี้ถ้าเกิดคราสในราศีที่ดาวในดวงชะตากำเนิด
ดวงนั้นสถิตอยู่ด้วย คราสนั้นย่อมส่งผลเป็นอย่างมาก หรือ
เรียกง่ายๆว่าคราสนั้นเกิดการปริวรรตขึ้นตามการปริวรรตของดาวในดวงชะตากำเนิดด้วย
ปริคัณฑานตะ (คราสที่เกิดในฤกษ์สนธิ หรือ
นวางค์ขาด)
ใน 1
จักรราศีเราแบ่งออกเป็น 108 นวางค์ โดยทั้ง 108 นวางนั้นจะแบ่งออกเป็น 3
ช่วงด้วยกัน ช่วงละ 36 นวางค์ ซึ่งฤกษ์สนธิ หรือ นวางค์ขาดนั้นก็คือ
นวางค์ลูกสุดท้ายของราศีกรกฏ, ราศีพิจิก และ ราศีมีน
โดยถ้าเกิดคราสในจุดนี้ในคัมภีร์โยราณจะเรียกว่า “ปริคัณฑานตะนวางศ์”
ปริคัณฑานตะนั้น
แปลว่า ข้อพับ, บานพับ, ข้องอศอก
ดังนั้นถาเกิดคราสในนวางค์สุดท้ายของ 3 ราศีที่กล่าวมา
คราสนั้นย่อมให้ผลที่รุนแรงและอันตราย
วิกลคต (การโคจรผิดปกติของดาว)
คำว่า
วิกลคต หมายถึงการที่ดาวเคราะห์นั้นๆ โคจรผิดปกติ
การโคจรผิดปกตินั้นเกิดขึ้นได้กับดาวเคราะห์ทุกดวง ยกเว้นพระอาทิตย์และพระจันทร์
การโคจรผิดปกติได้แก่
การโคจรเร็วกว่าปกติ, โคจรช้ากว่าปกติ หรือ หยุดอยุ่เฉยๆ และ
โคจรถอยหลัง (เสริด, มนท์, พักร์)
จุดสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่
เมื่อดาวเคราะห์นั้น หยุดนิ่งอยู่กับที่ก่อนที่จะเดินถอยหลัง หรือ
ก่อนที่จะเดินปกติเมื่อถอยหลังมาถึงที่สุดแล้ว
จุดตรงนี้เองที่มีความสำคัญในเรื่องการเกิดคราสมาก
เพราะในขณะที่เกิดคราสต้องสังเกตว่าดาวดวงใดกำลังวิกลคตอยู่ในจักรราศีของวันนั้นในกรณีเช่นนี้บ้าง
หรือ จุดเกิดคราสไปต้องดาวที่เดินวิกลคตในดวงชะตากำเนิดเดิมของเจ้าชะตาเช่นนี้
ดาวดวงนั้นย่อมได้รับอิทธิพลของคราสเป็นอย่างมาก
วรโคตรนวางค์
ถ้าคราสนั้นเกิดครัสตพินทุในจุดวรโคตรนวางค์
คราสนั้นย่อมให้ผลรุนแรงมากกว่าเกิดในนวางค์อื่นๆ
ครหจัณฑาล
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการเกิดครัสตพินทุคราสนั้น
ให้พิจารณาว่าดาวดวงใดสถิตร่วมจุดครัสตพินทุหรือไม่ (ไม่เกิน 3 องศา 20 ลิปดา)
ถ้าเป็นสุริยคราสก็ให้สังเกตพระอาทิตย์เป็นหลัก
ถ้าเป้นจันทรคราสก็ให้สังเกตพระจันทร์เป็นหลัก
ดาวเคราะห์ที่ร่วมจุดครัสตพินทุนี้จะมีชื่อเรียกว่า
“ครหจัณฑาล” โดยดาวทุกดวงสามารถเป็นครหจัณฑาลได้ในการเกิดสุริยคราส
แต่ในจันทร์คราสดาวพุธและดาวศุกร์ จะมีข้อยกเว้นว่าดาวทั้ง 2
ดวงนี้จะไม่เป้นครหจัณฑาลเมื่อเกิดจันทรคราส
ดังนั้นเจ้าชะตาที่มีลัคนาสถิตอยู่ในราศีที่เป็นเรือนเกษตรของดาวพุธ
(ราศีเมถุน และ กันย์) หรือ ดาวศุกร์ (ราศีพฤษภ และ ตุลย์)
เจ้าชะตาจะได้รับผลจากจันทรคราสเพียงเบาบาง
สารัมภ์ภาวะ หรือ องศาที่เท่ากับลัคนา
เมื่อผูกดวงชะตาขึ้นมาแล้วเราก็จะทราบว่าลัคนาเรามีองศาที่เท่าใด
เมื่อทราบองศาที่แน่นอนแล้ว องศาที่ลัคนาสถิตทุกๆ
ราศีจะมีจุดที่องศาเท่ากับลัคนาในดวงกำเนิด จุดเหล่านี้เรียกว่า “สารัมภ์ภาวะของลัคนา”
ถ้าเกิดคราสขึ้นไม่ว่าจะในราศีใดๆ
ถ้าองศาของคราสนั้นๆ มีองศาเท่ากับสารัมภ์ภาวะแล้ว
คราสนั้นย่อมส่งผลต่อเจ้าของชะตาเป็นอันมาก
ในวันที่เกิดจันทรุปราคา
พระจันทร์จะเริ่มถูกกลืนกินทางขอบทิศตะวันออกก่อนเสมอไป
เพราะพระจันทร์นั้นเคลื่อนโคจรไปสู่ทิศตะวันออกเสมอ จึงค่อยๆ
ถูกเงาของโลกบดบังจากทิศตะวันออก
ในวันที่เกิดสุริยุปราคา
พระอาทิตย์จะเริ่มถูกกลืนกินทางขอบทิศตะวันตกก่อนเสมอไป
เพราะพระอาทิตย์เคลื่อนโคจรไปสู่ทิศตะวันตกเสมอ เมื่อโคจรสวนทางกับพระจันทร์
ดังนั้นพระจันทร์จะเริ่มบดบังพระอาทิตย์จากทางขอบด้านทิศตะวันตกก่อนเสมอ
พระจันทร์นั้นจะโคจรผ่านหน้าพระอาทิตย์นับจากวันแรม
15 ค่ำพระจันทร์จะค่อยๆ ห่างจากพระอาทิตย์ไปทุกที
จนกระทั่งมาเล็งกันกับพระอาทิตย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ
ถ้าในขณะนั้นวิถีโคจรของพระจันทร์โคจรอยู่บนเส้นระวิมรรคพอดี
พระจันทร์ก็จะโคจรเข้าผ่านเงามืดของโลก แล้วจะเกิดจันทรุปราคาขึ้นทันที
ในการเกิดจันทรุปราคานั้นเราสามารถมองเห็นได้เกือบครึ่งโลก
แต่ในการเกิดสุริยุปราคาเราจะมองเห็นได้ในบริเวณจำกัด
ในกรณีของจันทรุปราคาที่เกิดไม่เต็มดวง
มุมของพระจันทร์จะมีลักษณะป้าน ไม่เรียวแหลมทั้งสองข้าง
แต่ในกรณีสุริยุปราคาที่ไม่เต็มดวง มุมของพระอาทิตย์จะมีลักษณะเรียวแหลมทั้งสองข้าง
จึงทำให้สุริยุปราคาสามารถมองเห็นได้บริเวณแคบกว่าจันทรุปราคา
การเกิดคราสนั้นเป็นปรากฏการณ์ปกติของธรรมชาติ
ไม่ถือว่าเป็นลางร้ายที่น่ากลัวอะไรมากนัก
แต่มีข้อสำคัญอยู่ว่าในช่วงวันที่เกิดคราสนั้นมีปรากฏการณ์ที่น่ากลัวอย่างอื่นที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าปรากฏขึ้นร่วมด้วยหรือไม่
เช่น ผีพุ่งใต้, อุกกาบาตตก, ปรากฏการณ์ดาวหาง,
ฝนดาวตก, ฯลฯ ถ้าปรากฏเช่นนั้น
ท่านถือว่าเป็นลางร้ายอันน่ากลัวยิ่ง
ถ้าเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาในเดือนเดียวกัน
จะเกิดผลร้ายอย่างไม่คาดฝัน ผู้นำประเทศจะถูกทำลาย ต้องสูญเสียการปกครอง
เกิดการปฏิวัติรัฐประหารจากกลุ่มทหารของตนเอง จะเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดน่ากลัวเลือดนองแผ่นดิน
ถ้าเกิดคราสในขณะที่พระอาทิตย์
หรือ พระจันทร์กำลังขึ้น หรือ ตก ท่านว่าเป็นนิมิตรที่ไม่เป็นมงคล
พืชพันธุ์ธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวในฤดูร้อนจะให้ผลน้อยมาก
ผู้ปกครองประเทศจะวิบัติโดยที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
ถ้าเกิดสรรพคราสในลักษณะเช่นนี้ แล้วมีดาวเคราะห์อื่นเข้าร่วมคราสด้วย
ถ้าดาวเคราะห์ที่เข้าร่วมนั้นเป็นบาปเคราะห์ก็จะก่อให้เกิดข้าวยากหมากแพง
เกิดโรคระบาด ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนนานับประการ
ถ้าเกิดคราสในขณะที่พระอาทิตย์
หรือ พระจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมาได้เพียงครึ่งดวงในทิศตะวันออก
พวกชนชั้นต่ำจะประสบความวิบัติ การกระทำพิธีกรรมขอพร การพลียัญ พิธีสะเดาะเคราะห์
ฯลฯ จะไม่ช่วยก่อให้เกิดผลดีเลยแม้แต่น้อย
มหาฤษีให้กฏเกณฑ์ว่า
ท้องฟ้าในส่วนจากทิศตะวันออกไปจดทิศตะวันตกในช่วงทิวา หรือ ราตรีนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น
7 ส่วนเท่าๆ กัน (รวมเป็น 14 ส่วนทั้งกลางวันและกลางคืน) ถ้าเกิดคราสในส่วนต่างๆ
ทั้ง 7 ส่วนผลของคราสก็จะแตกต่างกันไปตามลำดับ (เวลาที่ให้นั้นกำหนดโดยประมาณ
เมื่อเทียบกับเวลาสากล ซึ่งความจริงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น-ตก
ของแต่ละวันในช่วงฤดูต่างๆ จะสั้นยาวไม่เท่ากัน)
-
คราสเกิดในส่วนที่ 1 (06.01 น. – 07.44 น. หรือ 18.01 น. –
19.44 น.)
ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับความร้อน
หรือ ไฟ เช่นพวกช่างทอง ช่างเหล็ก ฯลฯ และ พวกนักบุญ นักการศาสนาต่างๆ
จะประสบกับความวิบัติในลักษณะที่แตกต่างกันไป
-
คราสเกิดในส่วนที่ 2 (07.44 น. – 09.27 น. หรือ 19.44 น. –
21.27 น.)
ผู้ที่ประกอบอาชีพกสิกรรม
บุคคลนอกศาสนา พ่อค้านักธุรกิจ แม่ทัพนายกอง และผู้นำประเทศ จะประสบกับความวิบัติ
-
คราสเกิดในส่วนที่ 3 (09.27 น. – 11.10 น. หรือ 21.27 น. –
23.10 น.)
ศิลปินสาขาต่างๆ
ผู้ใช้แรงงาน ประชาชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ชาวป่าชาวเขา
ผู้มีตำแหน่งสูงทางการเมืองและการบริหารประเทศ จะประสบความวิบัติ
-
คราสเกิดในส่วนที่ 4 (11.10 น. – 12. 51 น. หรือ 23.10 น. –
00.51 น.)
คราสส่วนนี้คือคราสที่เกิดเหนือศีรษะเรา
ในเวลาเที่ยงวัน หรือ เที่ยงคืน จะเกิดเหตุการณ์ชั่วร้ายต่างๆ เกินขึ้นในเมืองหลวง
ผู้นำประเทศ หรือ ราชวงศ์ชั้นสูงจะประสบความหายนะ ล้มหายตายจาก
สูญเสียอำนาจการปกครอง แต่ข้าวปลาธัญญาหารต่างๆ จะไม่ถูกกระทบกระเทือน
-
คราสเกิดในส่วนที่ 5 (12.51 น. – 14.34 น. หรือ 00.51 น. –
02.34 น.)
พ่อค้านักธุรกิจ
พวกที่เคยเสพสุขบนกองเงินกองทอง พวกอนุภรรยา พวกประกอบอาชีพบำเรอความสุข
เหล่าขุนนางผู้ใหญ่ ตลอดจนสัตว์จตุบาท สัตว์บกสัตว์น้ำ
ต่างจะต้องประสบความวิบัติด้วยกันทั้งสิ้น
-
คราสเกิดในส่วนที่ 6 (14.34 น. – 16.17 น. หรือ 02.34 น. –
04.17 น.)
สตรีเพศ
ตลอดจนสัตว์เพศเมียทุกชนิด จะได้รับความลำบากเดือดร้อนจากการแพร่พันธุ์ เช่น
แท้งลูก การคลอดก่อนกำหนด การคลอดบุตรยาก ฯลฯ
พวกชนชั้นต่ำจะได้รับความเดือดร้อนมากเป็นพิเศษ
-
คราสเกิดในส่วนที่ 7 (16.17 น. – 18.00 น. หรือ 04.17 น. –
06.00 น.)
พวกประกอบอาชีพทุจริต
เช่น พวกโจร ผู้ค้าสิ่งผิดกฏหมาย พวกประกอบอาชีพทางการพนัน
รวมทั้งพวกอาชญากรรมต่างๆ ตลอดจนประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามเขตชายแดนของประเทศ
จะประสบความวิบัติอย่างร้ายแรง
คราสที่ปรากฏในแต่ละราศี
คราสในราศีเมษ
–
พวกอาชีพพรานล่าสัตว์ นักรบ ช่าง ผู้ที่ใช้ไฟในการประกอบอาชีพ
จะประสบวิบัติ
คราสในราศีพฤษภ
–
พวกปศุสัตว์ ตลอดจนเจ้าของปศุสัตว์ทั้งหลาย
รวมถึงผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเมือง จะประสบความวิบัติ
คราสในราศีเมถุน
–
พวกสตรีชั้นสูง ผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตดูเข้มแข็ง พวกศิลปิน
จะประสบความวิบัติ
คราสในราศีกรกฏ
–
พวกเลี้ยงวัว พวกนักมวย นักต่อสู้ เมืองหรือเผ่าที่ไม่เข้มแข็ง และ
พวกพืชพันธุ์ธัญญาหารจะได้รับความวิบัติ
คราสในราศีสิงห์
–
พวกอาชีพฆ่าสัตว์ นักรบ ผู้ที่เรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้น ผู้นำต่างๆ
พวกท่องเที่ยวนิยมภัย จะประสบความวิบัติ
คราสในราศีกันย์
–
พวกประกอบอาชีพกสิกรรม ชาวนา นักประพันธ์ นักดนตรี
จะประสบความวิบัติ
คราสในราศีตุลย์
–
พวกพ่อค้า นักธุรกิจ พวกผู้ดีมีสกุล จะประสบความวิบัติ
คราสในราศีพิจิก
–
พวกนักรบที่นิยมใช้อาวุธอาบยาพิษ ผู้ค้าหรือนักเคมี
ผู้ค้ายาปราบศัตรูพืช จะประสบความวิบัติ
คราสในราศีธนู
–
พวกขุนนางผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดิน สัตว์จตุบาทเพื่อใช้เป็นพาหนะ
พวกที่ประกอบอาชีพในการต่อสู้ พวกหมอรักษาโรค
พวกนักธุรกิจข้ามชาติค้าขายกับต่างประเทศ พวกที่ใช้แรงงานแลกเงิน
พวกที่ใช้อาวุธต่างๆ จะประสบความวิบัติ
คราสในราศีมกร
–
พวกสัตว์น้ำจะหายาก พวกครอบครัวของผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ที่สูง
พวกชนชั้นต่ำ พวกที่นิยมใช้เวทมนตร์คาถา ร่างทรง พวกที่ใช้สมุนไพรในการรักษาโรค
พวกคนชรา พวกใช้อาวุธในการยังชีพ จะประสบความวิบัติ
คราสในราศีกุมภ์
–
คนที่อาศัยทางทิศตะวันตกจากเมืองหลวง
พวกที่ต้องรับผิดชอบกิจการสำคัญ พวกมิจฉาชีพ พวกผู้ดีมีสกุลต่างๆ
จะประสบความวิบัติ
คราสในราศีมีน
–
วัตถุที่ได้จากแม่น้ำ หรือ ทะเลจะขาดแคลน พวกที่อยู่ในป่าลึก
พวกปราชญ์บัณฑิตสาขาต่างๆ พวกประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับน้ำ พวกที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
พวกที่ค้าขายวัตถุที่ได้มาจากน้ำ จะประสบความวิบัติ
สีของพระอาทิตย์ หรือ พระจันทร์
ในขณะเกิดคราส
คราสมีสีค่อนข้างขาวนวล
จะเป็นนิมิตที่ดี ประชาชนจะร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคระบาด บ้านเมืองจะรุ่งเรืองทางโลกีย์
แต่พวกนักบวชจะเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ
คราสมีสีแดงดั่งเปลวไฟ
ประชาชน และ บ้านเมืองจะประสบกับอัคคีภัยอย่างใหญ่หลวง
พวกที่ทำอาชีพเกี่ยวกับการใช้ไฟจะวิบัติ สรุปคือจะมีภัยอันเกิดจากไฟ
คราสมีสีเขียวคล้ำดุจสีของใบไม้
จะเกิดโรคระบาดอันนำมาซึ่งความตายอย่างร้ายแรง ผู้คนจะเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก
พืชพันธุ์ธัญญาหารจะเสียหาย ฝนฟ้าจะตกมากเกินไปจนเกิดอุทกภัย
คราสมีสีค่อนข้างออกสีน้ำตาล
สัตว์ที่มีฝีเท้าเร็วจะเกิดโรคระบาดล้มตาย ชาวป่าชาวเขาจะประสบกับโรคระบาดและการขาดแคลนอาหาร
คราสมีสีอำพันดั่งพระอาทิตย์แรกขึ้น
จะเกิดยุคข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าจะตกน้อยไม่ตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินจะแห้งแล้งขาดน้ำ
คราสมีสีค่อนข้างเทา
เป็นศุภนิมิตที่ดีมาก บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข ผู้คนมีศีลธรรม
ฝนตกต้องตามฤดูกาลแต่จะค่อนข้างแห้งแล้งสักเล็กน้อย
คราสมีสีแดงคล้ำ, เหลืองคล้ำ หรือ ค่อนข้างเหลือง ในปีนั้นน้ำจะน้อย
ประชาชนจะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก
คราสมีสีดำคล้ำ
พวกชาวไร่ชาวนา ชนชั้นต่ำ พวกใช้แรงงานขั้นต่ำ จะเกิดโรคระบาดตายเป็นจำนวนมาก
คราสมีสีคล้ายบุษราคัม
(สีเหลืองปนเขียว) พวกพ่อค้านักธุรกิจจะประสบความเสียหายอย่างหนัก
แต่บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข
คราสมีสีดั่งเปลวไฟลุกโชน
บ้านเมืองจะประสบกับอัคคีภัยครั้งใหญ่
คราสมีสีดุจทองคำ
บ้านเมืองจะเกิดสงครามในระยะเวลาอันใกล้
คราสมีสีเขียวอมดำ
หรือ สีเขียวปนเหลือง
จะเกิดโรคระบาดทั้งกับมนุษย์และสัตว์ทำให้เจ็บป่วยล้มตายกันเป็นจำนวนมาก
คราสมีสีชมพู
หรือ สีปูนแห้ง จะเกิดฟ้าผ่าขึ้นอย่างมากมาย ผู้คนจะโดนฟ้าผ่าตายเป็นจำนวนมาก หรือ
ได้รับผลกระทบจากภัยฟ้าผ่าเป็นจำนวนมาก
คราสมีสีแดงคล้ำจนเกือบดำ
ผู้ครองแค้วนครองประเทศจะวิบัติ และ สูญเสียอำนาจ บ้านเมืองจะเกิดความแห้งแล้งอดอยาก
คราสมีเหมือนตะวันยอแสง
หรือ เป็นสีรุ้ง จะเกิดมหาสงครามไปทั่วทุกดินแดน หรือ ทั่วโลก
ผลของดาวที่เข้าร่วมขณะเกิดคราส
ดาวอังคารเข้าร่วมขณะเกิดคราส
จะเกิดสงครามใหญ่ จะเกิดอัคคีภัย โจรผู้ร้ายจะชุกชุม การใช้อาวุธประหัตประหารกันจะมีมากขึ้น
ผู้ปกครองประเทศจะเกิดความหยิ่งยะโสบ้าอำนาจ จะประสบความวิบัติ
ดาวพุธเข้าร่วมขณะเกิดคราส
อาหารจำพวกนม เนย น้ำผึ้ง น้ำตาล น้ำมัน จะขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น
ผู้ปกครองประเทศต่างๆ สตรีเพศ พวกนักรบ เด็กผู้ชาย พวกบัณฑิต จะประสบความวิบัติ
ดาวพฤหัสเข้าร่วมขณะเกิดคราส
ผู้คงแก่เรียน พวกบัณฑิต ผู้ปกครองประเทศที่มีศีลธรรม พวกขุนนางตงฉิน เหล่าช้างม้าวัวควาย
จะได้รับความวิบัติ
ดาวศุกร์เข้าร่วมขณะเกิดคราส
พืชพันธุ์ธัญญาหารจะถูกทำลายพินาศสิ้น บ้านเมืองจะประสบภัยใหญ่ๆ
หลายประการซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน พวกสตรี พวกข้าราชการฝ่ายหญิง จะวิบัติ
ดาวเสาร์เข้าร่วมขณะเกิดคราส
จะเกิดฝนแล้ง น้ำท่าจะขาดแคลน ข้าวจะยากหมากจะแพง โจรผู้ร้ายจะชุกชุม
พวกวัตถุที่ได้จากดิน อาทิ แร่ธาตุต่างๆ จะเสียหายย่อยยับ
ในกรณีที่มีดาวเคราะห์นั้นๆ
ได้เข้าร่วมในขณะเกิดคราส การบรรเทาความวิบัติใดๆ
ของดาวเคราะห์นั้นที่จะเกิดขึ้นจากคราสได้
ถ้าในขณะที่เกิดคราสดาวพฤหัสไม่เข้าร่วมในจุดคราส
และให้แสงถึงจุดคราสที่เกิดขึ้นนั้น เปรียบดั่งน้ำที่สามารถดับไฟลงได้
(จาก หนังสือปฏิทินคราส ๒๕๐+๘๙ปี ของ พ.อ.ประจวบ -ปรเมศวร์ วัชรปาณ)
อ้างอิงจากบทความรู้ของผู้ใช้นามตั้งกระทู้ว่า
“ฮินดี” เมื่อปี 2551 มิใช่งานของผู้เขียน
เห็นว่าความรู้นี้มีประโยชน์สาระจึงขอยกนำมาไว้ให้ผู้สนใจได้อ่านศึกษาทำความเข้าใจ