สุริยยาตร์และมานัตต์
(ต้นฉบับหลวงวิศาลดรุณกร)
ภาคคำนวณพระสุริยยาตร์
ทำอัตตา
ถ้าจะทำ อัตตา ให้ตั้ง จุลศักราช
ปีที่ต้องการนั้นลง เอา ๒๙๒๒๐๗ คูณ แล้วเอาเกณฑ์ ๓๗๓ บวก เอา ๘๐๐ หาร ได้ลัพธ์เท่าใด เอา ๑ บวกเข้าเป็น หรคุณอัตตา
เศษเอามาลบเชิงหาร (คือ เลข ๘๐๐ ที่เป็นตัวหาร) ตกลัพธ์เป็น
"กัมมัชพลอัตตา" แล้วจึงตั้ง หรคุณอัตตาลงเป็นสองฐาน ฐานบนเอา ๑๑ คูณ
เอา ๖๕๐ บวก แล้วเอา ๖๙๒ หาร เศษเป็น "อวมานอัตตา" ลัพธ์ซึ่งหารได้นั้น
เอาไปบวกด้วย หรคุณอัตตาฐานต่ำ แล้วเอา ๓๐
หาร เศษเป็น "ดิถีอัตตา" ลัพธ์เป็น "มาสเกณฑ์อัตตา" แล้วตั้งหรคุณอัตตาลงอีก
เอาเกณฑ์ ๖๒๑ มาลบ เหลือเท่าใด เอา ๓๒๓๒ หาร เศษเป็น อุจจพลอัตตา ถ้าเอา ๗ หาร
"หรคุณอัตตา" เศษเป็น "วันเถลิงศก"
ทำอัตตากำเนิด
ถ้าจะหา อัตตากำเนิด คือ วันเกิดของบุคคลก็ดี
หาวันปัจจุบันที่จะต้องการที่เรียกว่า "สุรทินประสงค์" ก็ดี ต้องนับแต่หน้าวันเถลิงศกไปถึงวันเกิด
หรือ วันที่ต้องการทราบได้เท่าใด เรียกว่า สุรทินอัตตา แล้วเอา สุรทินอัตตา
บวกด้วยหรคุณอัตตาเป็น "หรคุณกำเนิด" แล้วนับเดือนห้าเป็นต้นไป
จนถึงเดือนเกิดได้เท่าใดบวกเข้ากับมาสเกณฑ์อัตตา เป็น "มาสเกณฑ์กำเนิด"
แล้วตั้งสุรทินอัตตาลง เอา ๘๐๐ คูณ เอา กัมมัชพลอัตตาบวก เป็น
"กัมมัชพลกำเนิด" ตั้งอุจจพลอัตตาลง เอา สุรทินอัตตาบวก เป็น
"อุจจพลกำเนิด" ตั้ง หรคุณกำเนิด ลง เอา ๗ หาร เศษ เป็น
"วารกำเนิด"
ตั้งสุรทินอัตตาลงเป็นสองฐาน ฐานบนเอา ๑๑ คูณ
ได้ลัพธ์เท่าใด เอาอวมานอัตตาบวก แล้วเอา ๖๙๒ หารเศษเป็น "อวมานกำเนิด"
ลัพธ์ซึ่งหารได้นั้น เอาไปบวกสุรทินอัตตาฐานต่ำ แล้วเอาดิถีอัตตาบวกเข้าด้วย ได้ลัพธ์เท่าใด
เอา ๓๐ หาร เศษเป็น "ดิถีกำเนิด" แล
ถ้าเอา ๖๙๒ หารมิได้โดยตัวตั้งน้อยกว่าตัวหาร
จำนวนเลขที่หารไม่ได้นั้นคงเป็นเศษทั้งสิ้น เศษนั้นเป็น อวมานกำเนิดอยู่เอง
และถ้าเอา ๓๐ หารมิได้ จำนวนเลขที่หารไม่ได้นั้นก็คงเป็นเศษและเป็น ดิถีกำเนิด
ด้วย
อนึ่งถ้าคำนวณไปแล้ว
เศษวัน ออกมิตรงกับดิถี ให้ถอยสุรทินอัตตาเข้ามาเสียตัวหนึ่ง
เพราะว่าเมื่อเวลาเกิดนั้น ดิถียังไม่เต็มบริบูรณ์
จึงต้องถอยสุรทินเข้าหาเพื่อให้ได้ผลตรงกับความที่เป็นจริง
ทำมัธยมพระอาทิตย์
ถ้าจะทำมัธยมพระอาทิตย์ ให้ตั้ง
กัมมัชพลกำเนิด ลง เอาเกณฑ์ ๒๔๓๕๐ หารลัพธ์เป็นราศี ถ้าหารมิได้ ลง ๐
เป็นเลขลัพธ์เสมอไป เศษเอา ๘๑๑ หาร ลัพธ์เป็นองศา มีเศษอีกเอา ๑๔ หาร
ลัพธ์เป็นลิปดา เศษเป็นฟิลิปดา แล้วเอา ๓
ลบลิปดาทุกครั้ง ได้ลัพธ์เป็นราศีองศาลิปดาฟิลิปดาเท่าใด เป็น
"มัธยมพระอาทิตย์" แล
ทำสัมผุสพระอาทิตย์
ถ้าจะทำสัมผุสพระอาทิตย์ ให้ตั้ง
มัธยมพระอาทิตย์ ลง เอา ๒ ลบราศี ๒๐ ลบองศา เศษในราศีเป็น "เกณฑ์" (คือ
เลขลัพธ์ในราศี)
ถ้าเกณฑ์ เป็น ๐, ๑, ๒ เอา ๒ คูณจำนวนเลขในราศี ได้ลัพธ์เป็น "ขันธ์"
ถ้าเกณฑ์ ๓, ๔, ๕
ให้ลบอัฑฒจักร คือ จำนวน ๖ ราศี เขียนดังนี้ ๕ | ๒๙ |
๖๐ เลขลัพธ์ในราศี เรียกว่า เศษในราศี เอา ๒ คูณเป็น
"ขันธ์"
ถ้าเกณฑ์ ๖, ๗, ๘ ให้เอา ๖
ลบเกณฑ์เศษในราศี เอา ๒ คูณเป็น "ขันธ์"
ถ้าเกณฑ์ ๙, ๑๐, ๑๑
ให้ลบทวาทศมณฑล คือ ๑๒ ราศี เขียนดังนี้ ๑๑ | ๒๙ | ๖๐ เศษในราศี เอา ๒ คูณเป็น "ขันธ์"
ถ้าองศามีถึง ๑๕ เอา ๑๕ ลบ บวก ๑
เข้าที่ขันธ์เป็นเกณฑ์ แล้วเอา ๖๐ คูณองศาบวกลิปดาเข้าด้วย เป็น
"ภุชลิปด์" ตราไว้
แล้วนับฉายาเท่าพระอาทิตย์
เรียงลงมาเบื้องล่างเท่าขันธ์ดังนี้
๓๕
๖๗
๙๔
๑๑๖
๑๒๙
๑๓๔
แล้วเอาฉายาที่นับเท่าขันธ์
ลบฉายาฐานถัดลงมาหรือเรียกว่าฐานต่ำก็ได้ เหลือเศษเท่าใดเอาไปคูณภุชลิปด์
แล้วเอา ๙๐๐ หาร
ลัพธ์เอาไปบวกด้วยฉายาฐานบนที่เท่าขันธ์ แล้วเอา ๖๐ หารลัพธ์เป็นองศา เศษเป็นลิปดา
ลง ๐ เป็นราศีนี้ชื่อว่า "รวิภุชผล"
ถ้าแม้ว่าขันธ์
๐ เมื่อจะทำรวิภุชผล ให้เอาฉายาฐานบนไปคูณภุชลิปด์ทีเดียว ไม่ต้องลบฐานต่ำ
แล้วเอา ๙๐๐ หารเศษทิ้งเสีย ได้ลัพธ์เป็นลิปดา ถ้าเกินกว่า ๖๐ ต้องเอา ๖๐
ทอนขึ้นเป็น ๑ องศา เศษคงไว้ในฐานลิปดา เมื่อองศาไม่มีให้ลง ๐ ที่องศา
ส่วนในราศีนั้นให้ลง ๐ เป็นราศี แล้วดูเกณฑ์ที่ทำมาแต่เดิมนั้น คือเมื่อเอา ๒
ลบราศีและ ๒๐ ลบองศาแล้ว
- ถ้าเกณฑ์ แต่ ๐ ถึง ๕ เป็นเกณฑ์ลบ
- ถ้าเกณฑ์ แต่ ๖ ถึง ๑๑ เป็นเกณฑ์บวก
เมื่อรวิภุชผลอยู่ในเกณฑ์ลบก็ให้ลบ
อยู่ในเกณฑ์บวกก็ให้บวก กับมัธยมพระอาทิตย์ ได้ลัพธ์เป็น
"สัมผุสพระอาทิตย์"
ทำมัธยมพระจันทร์
ถ้าจะทำมัธยมพระจันทร์ ให้ตั้ง สุทินอัตตา
ลงสองฐาน ฐานบนเอา ๑๑ คูณ แล้วเอาอวมานอัตตาบวก เอา ๖๙๒ หาร เศษเป็นอวมานกำเนิด
ลัพธ์เอาไปบวกด้วยฐานต่ำ แล้วเอาดิถีอัตตาบวกเข้า เอา ๓๐ หาร เศษเป็นดิถีกำเนิด
แล้วตั้งอวมานกำเนิดลงสองฐาน ฐานบนเอา ๒๕ หาร
เศษเป็นฟิลิปดา ลัพธ์เอาไปบวกด้วยฐานต่ำ
แล้วเอา ๖๐ หาร ได้ลัพธ์เป็นองศา
เศษเป็นลิปดา ลง ๐ เป็นราศี แล้วจึงตั้งดิถีกำเนิดลง เอา ๑๒ คูณ เอา ๓๐ หาร ได้ลัพธ์เท่าใดบวกด้วยราศี
เศษบวกด้วยองศา
แล้วเอาลัพธ์ที่ได้นั้นไปบวกด้วยมัธยมพระอาทิตย์ในวันนั้น
ฐานลิปดาให้เอา ๔๐ ลบเสมอไป เหลือเท่าใดเป็น "มัธยมพระจันทร์"
ทำมัธยมอุจจ์และอุจจวิเศษ
ถ้าจำทำมัธยมอุจจ์ ให้ตั้ง อุจจพลอัตตา ลง
เอา สุทินอัตตาหรือ สุทินประสงค์ บวกเข้าเอา ๓ คูณ เอา ๘๐๘ หารลัพธ์เป็นราศี
เศษเอา ๓๐ คูณ แล้วเอา ๘๐๘
หารลัพธ์เป็นองศา เศษเอา ๖๐ คูณ แล้วเอา ๘๐๘
หาร ลัพธ์เป็นลิปดา เอา ๒ บวกลิปดาเป็น "มัธยมอุจจ์" แล้วเอามัธยมอุจจ์ลบมัธยมพระจันทร์
เป็น "อุจจวิเศษ"
ทำสัมผุสพระจันทร์
ถ้าจะทำสัมผุสพระจันทร์ ให้ตั้ง อุจจวิเศษ ลง
เศษในราศีเป็น "เกณฑ์"
ถ้าเกณฑ์ ๐, ๑, ๒ ในเอา ๒ คูณเป็น "ขันธ์"
ถ้าเกณฑ์ ๓, ๔, ๕ ให้ลบอัฑฒจักร (๖ ราศี) คือ ๕ | ๒๙ | ๖๐ เศษในราศี เอา ๒ คูณเป็น "ขันธ์"
ถ้าเกณฑ์ ๖, ๗, ๘ เอา ๖ ลบเกณฑ์ เศษในราศีเอา ๒ คูณเป็น "ขันธ์"
ถ้าเกณฑ์ ๙, ๑๐,
๑๑ ให้ลบทวาทศมณฑล (๑๒ ราศี) คือ ๑๑ | ๒๙
| ๖๐ เศษในราศีเอา ๒ คูณเป็น "ขันธ์" แล้วเอา ๖๐ คูณองศา
บวก ๖๐ลิปดาขึ้นเป็น "ภุชลิปด์" ตราไว้
แล้วให้นับฉายาพระจันทร์เท่าขันธ์ ดังนี้
๗๗
๑๔๘
๒๐๙
๒๕๖
๒๘๖
๒๙๖
เอาฐานบนที่นับเท่าขันธ์ ลบฐานที่ถัดลงมา
เศษเอาไปคูณภุชลิปด์ แล้วเอา ๙๐๐ หาร ลัพธ์เอาบวกด้วยฉายาฐานบน แล้วเอา ๖๐ หาร ลัพธ์เป็นองศา เศษเป็นลิปดา
ลง ๐ เป็นราศี นี้ชื่อว่า "จันทรภุชผล"
ถ้าแม้ว่าขันธ์เป็น ๐ จะทำจันทรภุชผล
ต้องเอาฉายาฐานบนคูณภุชลิปด์ แล้วเอา ๙๐๐ หาร ลัพธ์เป็นลิปดา
ถ้าลิปดามีถึง ๖๐ ต้องทอนขึ้นเป็นองศา แล้วลง
๐ เป็นราศี แล้วดูเกณฑ์ที่ทำมาแต่เดิมนั้น
- ถ้าเกณฑ์ แต่ ๐ ถึง ๕ เป็นเกณฑ์ลบ
- ถ้าเกณฑ์ แต่ ๖ ถึง ๑๑
เป็นเกณฑ์บวก
เมื่อรวิภุชผลอยู่ในเกณฑ์ลบก็ให้ลบ
อยู่ในเกณฑ์บวกก็ให้บวก กับมัธยมพระอาทิตย์ ได้ลัพธ์เป็น
"สัมผุสพระจันทร์"
ทำดิถีและนาทีดิถี
ถ้าจะทำดิถีและนาทีดิถี ให้ตั้ง
สัมผุสพระจันทร์ลง เอาสัมผุสพระอาทิตย์ลบ เหลือเท่าใดเป็นเพียร แล้วให้ตั้งเพียรลง เอา ๓๐
คูณราศีให้เป็นองศา และองศาเดิมมีเท่าใดให้เอาบวกเข้า แล้วเอา ๖๐ คูณให้เป็นลิปดา
และลิปดาเดิมมีอยู่เท่าใดให้เอาบวกเข้า แล้วเอา ๗๒๐ หาร ลัพธ์เป็น
"ดิถี" เศษเอา ๑๒ หาร ลัพธ์เป็น "นาทีดิถี" แล
ทำฤกษ์พระเคราะห์
ถ้าจะหาฤกษ์พระเคราะห์องค์ใดๆ ก็ดี
ให้ตั้งสัมผุสพระเคราะห์องค์นั้นลง เอา ๓๐ คูณราศีให้เป็นองศา
จำนวนองศาเดิมมีอยู่เท่าใดเอาบวกเข้า แล้วเอา ๖๐ คูณให้เป็นลิปดา
ลิปดาเดิมมีอยู่เท่าใดให้บวกเข้า แล้วเอา ๘๐๐ หาร ได้ลัพธ์เป็น "ฤกษ์"
เศษเอา ๑๓ หาร ลัพธ์เป็น "นาทีฤกษ์" d
อ้างอิงจาก
“คัมภีร์โหราศาสตร์ไทยมาตรฐาน
ฉบับสมบูรณ์”
“หลวงวิศาลดรุณกร (อั้น
สาริกบุตร)