30 พฤษภาคม 2557

รำลึกเรื่องเก่า..เล่าความหลัง ตอน คาถาดูดวง


รำลึกเรื่องเก่า..เล่าความหลัง
ตอน คาถาดูดวง
สมัยก่อนคนมาหาพ่อทวดอยู่เป็นอันมาก ต่างก็มีจุดประสงค์แห่งการมาเยือนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมาขอฝากตัวเป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชาโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ มารักษาตัวเพราะโรคภัยไข้เจ็บ มาตรวจดวงชะตาขอฤกษ์พานาทีก็มากราย
จำได้ว่าท่านหนึ่งมาแต่เมืองไกลทางใต้ นัยว่าท่านเป็นหมอดูนักพยากรณ์อยู่แล้ว เคยได้ยินชื่อเสียงพ่อท่านสมัยอยู่เมืองปทุม ก็ติดตามมาด้วยความศรัทธาเคารพ จุดประสงค์การมาเยือนของท่านนั้นแปลก คือท่านมาเพื่อขอเรียนคาถาเพื่อประกอบการดูดวงให้แม่นยำ ครั้งนั้นพ่อทวดหัวเราะชอบใจเป็นการใหญ่ บอกว่าดี เป็นวิธีสร้างกำลังใจให้จิตตั้งมั่น การดูดวงหรือพยากรณ์นั้นจะได้ไม่ฟั่นเฟือนเฝือออกนอกลู่นอกทางเข้าป่าเข้าพงไป พ่อทวดว่าคาถาอื่นท่านคงจะพอมีพอรู้อยู่แล้ว ด้วยว่าท่านก็เป็นผู้รู้ภูมิศึกษาด้านนี้มานาน พ่อท่านจึงให้คาถาว่า “โลกะวิทู” เป็นคาถาพระพุทธเจ้าในบทสรรเสริญพุทธคุณ(อิติปิโสฯ)ที่แปลว่า “ผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง” นั่นเอง วิธีการของท่านสอนว่าให้ภาวนาในเวลากลางวันแล้วมองความสว่างให้เต็มที่จนจดจำได้ เมื่อเพ่งในอารมณ์ก็นึกได้ พอตกกลางคืนเพ่งหรือนึกถึงแล้วจิตใจก็สว่าง คือนึกถึงคำว่าโลกะวิทูคราใดใจก็ย่อมสว่างเช่นนั้น ทำอย่างนี้เป็นปกติอย่าให้เสื่อมหรือเคลื่อนไปจากใจ โลกะวิทูแล้วใจสว่างมากแค่ไหนสิ่งที่จะรู้จะเห็นย่อมมีความชัดมากเท่านั้น ท่านสอนดังกล่าวแล้วท่านผู้นี้ก็เอาดีได้ คือฝึกเรียนจากพ่อทวดให้ท่านคอยกำกับชี้แนะอารมณ์ใจ ภายในสามวันนี่ท่านมองความสว่างได้ชัดเจนแล้ว พอวันที่เจ็ดนี่เอาเรื่องเข้าที ช่วยพ่อทวดดูดวงท่านให้อารมณ์วางเข้าปีติขนลุกขนชันเข้าว่าก่อน แล้วอารมณ์รู้เห็นต่างมันตามมาพรั่งพรูไม่รู้จะเอาอะไรก่อน ท่านบอกให้กำหนดสติจับลงไปด้วยแล้วแยกแยะออกเป็นเรื่องๆ หากตรึกไม่ได้ให้นึกถึงเรื่องราวในดวงชะตาจะเป็นเรือนเป็นดาวตัวแทนความหมายต่างๆมาจับเป็นบาทพยากรณ์วิถี เพื่อให้ได้ความหมายในเรื่องราวลีลาชีวิตของเขา พ่อทวดท่านกำกับอารมณ์ฝึกสอนอยู่อย่างนี้ พร้อมคอยชี้แนะแก้ไขเมื่อกำลังใจตกหรือเสื่อมลงไป ปรากฏว่าท่านนี้เป็นที่ชอบใจในวิชาความรู้ที่พ่อทวดให้และสรรเสริญคุณเป็นอันมาก ช่วยตอบแทนเป็นลูกมือพ่อทวดอยู่ร่วมสามเดือน คือช่วยดูดวงบ้าง รักษาคนบ้าง ทำไร่ทำนาช่วยลูกๆของพ่อทวดบ้าง คือทำทุกอย่างตามที่ท่านจะตอบแทนคุณได้ จากนั้นท่านก็ลากลับและนานทีปีหนก็ขึ้นมาเยี่ยมเยียนพ่อทวดอยู่มิได้ขาด
ธีรพร เพชรกำแพง(บุญวงษ์)

๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗

24 พฤษภาคม 2557

เกณฑ์โชคชันษาจร ตอน กลทายเกณฑ์โชคชันษา โชคพระพฤหัส

เกณฑ์โชคชันษาจร ตอน กลทายเกณฑ์โชคชันษา โชคพระพฤหัส
พระอาทิตย์จรต้องลัคน์ จักได้ยศถา องค์ไท้ทรงประทานรางวัล พระจันทร์และลัคน์จรถึงกัน เกิดศิริมิ่งขวัญ จักได้คู่สนิทร่วมหมอน เมื่อพระอังคารท่านจร ถึงลัคน์จักบวร รังสฤษฏ์กิจผลอำไพ พุธจรต้องลัคน์ทันใด มรดกก้อนใหญ่ปู่ย่าตายายให้ครอง ครูจรประสานศุกรา จักอิ่มลาภา เงินทองได้มาสมบูรณ์ เสาร์ถึงลัคน์มีทุกข์อาดูร พลันจักมลายสูญ คนรักจากไปกลับมา ลัคน์จรต้ององค์อสุรา เปรียบเจ้าลงกามีชัย ยกเขาพระสุเมรุ พระเกตุถึงลัคน์ตามเกณฑ์ ประหนึ่งคเชนทร์พระราชาชุบเลี้ยงอุปถัมภ์ มฤตยูถึงลัคน์บาปกรรมที่เคยกระทำ เปรียงองคุลิมาลพบพระพุทธองค์เปลื้องเวร
(โปรดติดตามกลทายโชคพระศุกร์)
ธีรพร  เพชรกำแพง

คัดสำเนาเค้าเนื้อความ

20 พฤษภาคม 2557

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน ตำราทำนายเศษ "เกณฑ์แต่งงาน"

ตำราทำนายเศษ
"เกณฑ์แต่งงาน"
สมัยก่อนคนเก่าๆเขาจะดูว่าปีใดสมควรแต่งงานกันหรือไม่ ท่านมีวิธีการดูอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "การดูเศษ" คือในปีนั้นจะแต่งงานกันดีหรือไม่ดี ท่านให้เอาอายุชายบวกเข้ากับอายุหญิง ได้เท่าใดให้เอา ๗ หาร แล้วพึงพิจารณาดูเศษดังนี้
ถ้ามีเศษ ๑,,๗(๐) ปีนั้นไม่เหมาะแต่งงาน จะมีเหตุให้เลิกร้างกันแล
ถ้ามีเศษ ๒,,๖ แต่งงานกันดี มีเกณฑ์สุขสำราญ
อนึ่งแม้ได้เศษ ๔ ท่านว่าดีมาก อุดมสมบูรณ์ด้วยสุขผลอันดี
ธีรพร เพชรกำแพง

คัดสำเนาเสริมเค้าความ

17 พฤษภาคม 2557

เกณฑ์โชคชันษาจร ตอน กลทายเกณฑ์โชคชันษา โชคพระพุธ

เกณฑ์โชคชันษาจร ตอน กลทายเกณฑ์โชคชันษา โชคพระพุธ
พระอาทิตย์เสด็จจรถึงลัคน์ จักเรืองอดิศักดิ์สูงใหญ่ อีกองค์ไท้จะประทานรางวัล เมื่อพระจันทร์จรกระทบลัคน์เล่า ให้ตัวเจ้าชะตา จักวัฒนาภัย เกิดลาภใหญ่สมคิด ได้คู่ชิดสู่สม ร่วมภิรมย์สำราญ เมื่อพระอังคารจรมาถึงลัคน์ก็ดี จะเกิดอภิเดช ทั่วแคล้วนเขตแดนธานินทร์ เกียรติระบือเกริกก้อง พระพุทธจรมาต้องลัคนา ญาติพงษาเกิดชอบชื่น หยิบยื่นทรัพย์มรดก ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ ครูจรประชิดแหล่งลัคน์ จะได้อัครฐานา เป็นท้าวพระยาใหญ่โต พระศุกร์จรใกล้ลัคน์ก็ดี โชคลาภปีนี้อำไพ จะได้กำไรเกินทุน พระเสาร์จรหนุนลัคน์กำเนิด ผลจะเกิดทุกสถาน กิจการงานสัมฤทธิ์ประสิทธิเม อสุรินทร์ตัวมาร ผิจรรังควานลัคน์ใคร ครูกล่าวไว้จงระวัง จะแตกพังเดือดร้อน คู่ร่วมหมอนจะจากไกล คัมภีร์ไขดังนี้ มีแต่กลซ่อนเร้น จะชี้ให้เป็นโฉลก เมื่อได้เกณฑ์โชคพุธา อสุราก็ให้คุณ กลับเกื้อหนุนดวงชะตา เกิดลาภาอุดม พระเกตุจรถึงลัคน์ ชาตาจักโสภณ ลาภไหลล้นพรั่งพรู มฤตยูดาวร้าย ก็ทายคล้ายอสุรา แต่โชคพุธาเกิดผลจงคิดค้นแลเวย

(โปรดติดตามกลทายโชคพระพฤหัส)
ธีรพร  เพชรกำแพง

คัดสำเนาเค้าเนื้อความ

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน ลดอัตตานักโหราศาสตร์

ลดอัตตานักโหราศาสตร์
สำหรับข้อคิดที่ทำให้นักโหราศาสตร์ไทยต้องปล่อยปะละวางออกจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตามากเกินความพอดีนั้น คือเรื่องของ “ลัคนา” ว่าลัคนาในระบบคำนวณของโหราศาสตร์จะมีความเชื่อถือได้เป็นประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของวิธีการผูกดวงเพื่อการพยากรณ์ดวงชะตา ต่างก็มีรูปแบบการคำนวณที่หลากหลาย และผลที่ให้ออกมาก็มีความแตกต่างกันด้วย ทำให้สับสนกันไม่รู้จักจบสิ้น
ขอนำเอากรณีตัวอย่างที่อาจจะพอทำให้ผู้ศึกษาทั้งหลายคลายความ “ยึดมั่นยึดติด” กับความพยายามที่จะคาดเค้นกันให้ได้ชัดว่าลัคนานั้นอยู่ราศีใดกัน กรณีตัวอย่างนี้ คือพระราชชะตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระประสูติ ณ  เมืองบอสตัน แมสซาชูเซท ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทางโหรไทยได้ถวายการคำนวณ และวางพระราชลัคนาถึง ๒ ราศี ที่แตกต่างกันคือ ราศีมกร และ ราศี กรกฎ ซึ่งโหรทั้งสองฝ่ายเมื่อถวายคำพยากรณ์แล้ว ต่างก็มีความถูกต้องด้วยกันดีทั้งสองฝ่าย
          อย่างนี้จึงเป็นข้อน่าคิดว่าลัคนายังเป็นที่ “ยึดมั่นยึดติด” ได้อยู่หรือไม่? เพราะโหรทั้งสองฝ่ายต่างก็พยากรณ์ถูกต้องด้วยกันทั้งคู่ทั้งที่ใช้พระราชลัคนาไม่เหมือนกันในการพยากรณ์ เหตุนี้เรื่องลัคนาอันเกี่ยวข้องกับดวงชะตาจึงสมควรมองว่าเป็นปัจจัยเพื่อการพยากรณ์ หรือที่เรียกว่าเป็น “จุดเจ้าชะตา” อันพึงมีในพื้นดวง เพื่อประกอบการทำนาย โดยที่ไม่ต้องไปคาดเค้นการคำนวณให้มีความถูกต้องเป็นอันเดียว เพราะรูปแบบวิธีการวางดวงชะตานั้นมีความแตกต่างกันหลายวิธี ลัคนาหนึ่งอาจถูกต้อง ในขณะที่ลัคนาอื่นก็มีอาจมีความถูกต้องด้วยเช่นกัน
          ท่านจึงให้ใช้การสร้างความมั่นใจด้วยเรื่องของการ “สอบลัคนา” ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงตรวจดูผลการคำนวณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสอบความเป็นไปของชีวิตต่างๆด้วย เช่น ร่างกาย ใบหน้า อิริยาบถ นิสัย ความเป็นอยู่ ฯลฯ โดยให้น้ำหนักการพยากรณ์ลงในปัจจัยแต่ละส่วน  ให้มีความสอดคล้องตรงกันทั้งดวงชะตาและลีลาชีวิต เมื่อนั้นการพยากรณ์จึงมีความถูกต้องตรงกับลีลาชีวิตของเจ้าชะตามากที่สุด

ธีรพร  เพชรกำแพง
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗

9 พฤษภาคม 2557

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน การแปลความ


โหราศาสตร์ไทย นอกจากจะต้องศึกษาจดจำทำความเข้าใจในส่วนของบัญญัติต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องโยงใยกันทั้งหมดแล้ว กิจในขั้นต่อไปที่ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญและยากยิ่งกว่าขั้นเรียนรู้บัญญัติดังกล่าวนั้น คือการแปลความหมายปัจจัยบัญญัติในดวงชะตาออกมาเป็นคำพยากรณ์ การแปลความหรือการตีความนี้อาศัยการกลั่นกรองปัจจัยบัญญัติอย่าง ดาว ราศี ธาตุ เรือน เป็นตัวเชื่อมโยงสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความหมายขึ้นมาชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงเรียบเรียงเป็นความหมายที่โยงสัมพันธ์กับเจ้าชะตาอีกคราวหนึ่ง จึงจะได้คำพยากรณ์ที่เป็นไปตามลีลาชีวิตของเจ้าชะตา(ความหมายกลาง + เจ้าชะตา = ลีลาชีวิตเจ้าชะตา)
ฉะนั้นนักโหราศาสตร์ที่จะมีความสามารถในการพยากรณ์ดีเลิศนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการเคี่ยวกรำการแปลความหรือตีความปัจจัยพยากรณ์ต่างๆ จนมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าที่จะออกคำพยากรณ์ได้อย่างไม่ลังเล คือไม่มีวิจิกิจฉาเป็นสิ่งตัดกำลังความมั่นใจของตนเอง พร้อมทั้งสามารถเห็นเหตุจากเจ้าชะตานำมาสัมพันธ์กับการตีความที่เป็นกลางไว้ เมื่อโน้มโยงเข้าหากันก็จะได้รายละเอียดความเป็นไปในลีลาชีวิตของเจ้าชะตาอย่างถูกต้องตรงความเป็นจริงมากที่สุด


ธีรพร  เพชรกำแพง
๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗

4 พฤษภาคม 2557

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน หลงระบบโหราศาสตร์แนวประสม

สมัยประเดี๋ยวนี้ความรู้ทางโหราศาสตร์นั้นมีอยู่มาก และเข้าถึงง่ายด้วยสื่ออินเตอร์เน็ต หรือจะเป็นตำรับตำราก็หาซื้อได้ง่าย สำหรับผู้ใคร่ศึกษาได้เสพโหรารสอันเลิศแล้ว สามารถจะแสวงหาความรู้ได้โดยสะดวกดาย
ความที่โหราศาสตร์มีหลายแขนงหลากมติในการศึกษา เมื่อถ่ายทอดออกมาเป็นตำราแล้วก็ย่อมมีความต่างในหลายบริบทไปบ้าง อาจจะมีการประสมความรู้จากตำราหลายเล่ม และผู้แต่งแต่ละท่านก็มีความแนวคิดหลักวิชาที่ต่างกัน จึงทำให้ผู้ศึกษาที่ไม่มีพื้นฐานทางโหราศาสตร์มาก่อนเลยนั้น จำต้องรับความรู้ที่หลากหลายนั้นไว้ โดยไม่ทราบถึงความแตกต่าง เช่น โหราศาสตร์ไทยเดิมแนวโบราณ โหราศาสตร์ภารตะ-ฮินดู-พาราณสี โหราศาสตร์สากล โหราศาสตร์คอสโม-ยูเรเนียน(สายฝั่งตะวันตก) โหราศาสตร์ประยุกต์หรือบัญญัติใหม่ตามมติผู้สร้างระบบโหราศาสตร์นั้น เป็นต้น เมื่อรับเอาความรู้ทั้งหลายเข้ามาไว้ เวลาใช้ก็ให้รู้สึกสะเปะสะปะ เอาหลักสากลมาควบแบบไทย ใช้กฎเกณฑ์ทางภารตะมาอธิบายไทย หรือพยายามทำแบบไทยให้เป็นแบบสายตะวันตก ลักษณะอย่างนี้ของผู้เริ่มศึกษาโหราศาสตร์ยังมีอยู่ แทนที่จะหยิบอย่างใดมาเรียนรู้ให้มีความเข้าใจ กลับทำให้เสียเวลาไปกับโหราศาสตร์ลูกประสมเป็นอันมาก
อย่างโหราศาสตร์ไทยเรานี้ การจะมีผู้เข้าถึงและถ่ายทอดนับเป็นเรื่องยาก เพราะท่านสั่งสอนกันมาเป็นลำดับชั้น มิได้เผยแพร่ให้เป็นที่นิยมกันอยู่ดังปัจจุบันนี้ หรือบางคราวได้เห็นท่านเก่าๆแสดงไว้บ้าง แทนที่จะเกิดคุณอันดีกลับกลายเป็นโทษ จากผู้ที่ไม่ให้ความเคารพในหลักคิดแนววิชาและกล่าวหาว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไปก็มาก เหตุอย่างนี้ท่านจึงรักและหวงแหนความรู้มาก เพราะกลัวว่าเมื่ออยู่ในมือคนไม่รู้ค่าเสมือนไก่ได้พลอย ไม่รู้ค่ายังเขี่ยไปเขี่ยมาให้เสียของเข้าอีก ครูบาอาจารย์ท่านจึงต้องพิจารณานิสัยใจคอของศิษย์ที่จะรับไว้อย่างถี่ถ้วน หรือไม่ก็ถ่ายทอดเป็นความรู้ของคนในตระกูลเป็นส่วนใหญ่
ผู้ที่ไม่เคยเห็นเนื้อแท้โหราศาสตร์ไทย ย่อมเสมือนประชาชาชนผู้รอรับกระบวนเสด็จของพระราชา เมื่อเห็นเหล่าทหารเสนาอำมาตย์แต่งกายประดับเต็มยศเดินนำหน้ากระบวนมา ก็จะมีความเข้าใจผิดว่าทหารเสนาอำมาตย์นั้นเป็นพระราชาไปได้ อย่างนี้เป็นต้น
ความฝักใฝ่ในการหาความรู้ของผู้ศึกษาโหราศาสตร์นั้นเป็นเรื่องดี และควรกระทำในการที่จะพัฒนาตนเป็นนักโหราศาสตร์ในวันข้างหน้า แต่จำเป็นอยู่เองที่ท่านผู้ศึกษาจะต้องมีความชาญฉลาด ในการวิเคราะห์แยกแยะโหราศาสตร์เนื้อแท้ในแต่ละระบบ กับโหราศาสตร์ลูกประสม เพื่อความใจในแนวคิด หลักวิชา กฎเกณฑ์ของระบบนั้นๆอย่างถูกต้องและได้ผลดีจากการใช้ระบบโหราศาสตร์นั้นต่อไป

ธีรพร  เพชรกำแพง
๕/๕/๕๗



วิสัชนา..ประสาฮิปโป ตอน ควรใช้ทักษาหรือไม่?


มีผู้ศึกษาใหม่ได้ซื้อตำราโหราศาสตร์มาอ่านเพื่อศึกษาด้วยตนเอง และมีความสงสัยว่าบางตำราก็สอนเรื่องทักษาบางตำราก็ไม่สอน สอบถามว่า "อย่างนี้สมควรหรือไม่อย่างไรที่จะใช้ทักษาหรือไม่ใช้ทักษา"
ต้องตอบอย่างนี้ว่า ในโหราศาสตร์ไทยนั้น "สมควร" ที่จะมีการใช้ทักษาเข้ามาร่วมพิจารณาดวงชะตา แต่จะ "จำเป็น" หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้ศึกษาพิจารณาอ่านดวงชะตาด้วยพื้นฐานออกมาได้ผลเป็นที่ ชัดเจนมากน้อยเพียงใด การนำทักษามา "ครอบ" เพื่อที่จะขัดและเกลาภาพความหมายนั้นให้มีความชัดเจนขึ้น การเห็นภาพความ หมายนี้เองที่จะเป็นตัวบอกว่าเมื่อใดควรใช้หรือไม่ควรใช้ทักษา เพราะเมื่อเราได้ความหมายที่ชัดเจนเพียงพอต่อการทำนายอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเอาสิ่งอื่นมาขยายให้เฝือและเสียรูปความ แต่เมื่อภาพความหมายขาดตกบกพร่องไปหรือให้ภาพความหมายไม่เพียงพอ จึงจำเป็นที่จะต้องนำเอาสิ่งอื่นเข้ามาขัดเกลาให้ชัดเจนได้รูปความที่จะพยากรณ์
ท่านสอนเสมอว่าการจะใช้ทักษาให้ได้ผลเป็นอัศจรรย์นั้น จำเป็นต้องอ่านพื้นดวงให้มีความชัดเจนเสียก่อน คือต้องดึงภาพความหมายออกมาจาก ดาว ราศี ธาตุ จุดสัมพันธ์ถึงกัน(เรือน,มุมสัมพันธ์) ออกมาให้ได้ แล้วจะหยิบจับทักษาเข้ามาอ่านร่วมก็ย่อมจะมีความคล่องตัวในการพยากรณ์ ไม่ใช่แค่ "ศรี กับ กาลี" แต่สามารถที่จะนำเอาเรือนทักษามาใช้ให้เห็นภาพได้ทุกเรือน
ธีรพร  เพชรกำแพง

๔/๕/๕๗