ลดอัตตานักโหราศาสตร์
สำหรับข้อคิดที่ทำให้นักโหราศาสตร์ไทยต้องปล่อยปะละวางออกจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตามากเกินความพอดีนั้น
คือเรื่องของ “ลัคนา”
ว่าลัคนาในระบบคำนวณของโหราศาสตร์จะมีความเชื่อถือได้เป็นประการใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของวิธีการผูกดวงเพื่อการพยากรณ์ดวงชะตา
ต่างก็มีรูปแบบการคำนวณที่หลากหลาย และผลที่ให้ออกมาก็มีความแตกต่างกันด้วย
ทำให้สับสนกันไม่รู้จักจบสิ้น
ขอนำเอากรณีตัวอย่างที่อาจจะพอทำให้ผู้ศึกษาทั้งหลายคลายความ
“ยึดมั่นยึดติด” กับความพยายามที่จะคาดเค้นกันให้ได้ชัดว่าลัคนานั้นอยู่ราศีใดกัน
กรณีตัวอย่างนี้ คือพระราชชะตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระประสูติ ณ เมืองบอสตัน แมสซาชูเซท ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทางโหรไทยได้ถวายการคำนวณ
และวางพระราชลัคนาถึง ๒ ราศี ที่แตกต่างกันคือ ราศีมกร และ ราศี กรกฎ
ซึ่งโหรทั้งสองฝ่ายเมื่อถวายคำพยากรณ์แล้ว
ต่างก็มีความถูกต้องด้วยกันดีทั้งสองฝ่าย
อย่างนี้จึงเป็นข้อน่าคิดว่าลัคนายังเป็นที่
“ยึดมั่นยึดติด” ได้อยู่หรือไม่? เพราะโหรทั้งสองฝ่ายต่างก็พยากรณ์ถูกต้องด้วยกันทั้งคู่ทั้งที่ใช้พระราชลัคนาไม่เหมือนกันในการพยากรณ์
เหตุนี้เรื่องลัคนาอันเกี่ยวข้องกับดวงชะตาจึงสมควรมองว่าเป็นปัจจัยเพื่อการพยากรณ์
หรือที่เรียกว่าเป็น “จุดเจ้าชะตา” อันพึงมีในพื้นดวง เพื่อประกอบการทำนาย
โดยที่ไม่ต้องไปคาดเค้นการคำนวณให้มีความถูกต้องเป็นอันเดียว
เพราะรูปแบบวิธีการวางดวงชะตานั้นมีความแตกต่างกันหลายวิธี ลัคนาหนึ่งอาจถูกต้อง
ในขณะที่ลัคนาอื่นก็มีอาจมีความถูกต้องด้วยเช่นกัน
ท่านจึงให้ใช้การสร้างความมั่นใจด้วยเรื่องของการ
“สอบลัคนา” ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงตรวจดูผลการคำนวณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสอบความเป็นไปของชีวิตต่างๆด้วย
เช่น ร่างกาย ใบหน้า อิริยาบถ นิสัย ความเป็นอยู่ ฯลฯ โดยให้น้ำหนักการพยากรณ์ลงในปัจจัยแต่ละส่วน
ให้มีความสอดคล้องตรงกันทั้งดวงชะตาและลีลาชีวิต
เมื่อนั้นการพยากรณ์จึงมีความถูกต้องตรงกับลีลาชีวิตของเจ้าชะตามากที่สุด
ธีรพร เพชรกำแพง
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗