มีผู้ศึกษาใหม่ได้ซื้อตำราโหราศาสตร์มาอ่านเพื่อศึกษาด้วยตนเอง
และมีความสงสัยว่าบางตำราก็สอนเรื่องทักษาบางตำราก็ไม่สอน สอบถามว่า
"อย่างนี้สมควรหรือไม่อย่างไรที่จะใช้ทักษาหรือไม่ใช้ทักษา"
ต้องตอบอย่างนี้ว่า ในโหราศาสตร์ไทยนั้น
"สมควร" ที่จะมีการใช้ทักษาเข้ามาร่วมพิจารณาดวงชะตา แต่จะ
"จำเป็น" หรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้ศึกษาพิจารณาอ่านดวงชะตาด้วยพื้นฐานออกมาได้ผลเป็นที่
ชัดเจนมากน้อยเพียงใด การนำทักษามา "ครอบ" เพื่อที่จะขัดและเกลาภาพความหมายนั้นให้มีความชัดเจนขึ้น
การเห็นภาพความ หมายนี้เองที่จะเป็นตัวบอกว่าเมื่อใดควรใช้หรือไม่ควรใช้ทักษา
เพราะเมื่อเราได้ความหมายที่ชัดเจนเพียงพอต่อการทำนายอยู่แล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องเอาสิ่งอื่นมาขยายให้เฝือและเสียรูปความ
แต่เมื่อภาพความหมายขาดตกบกพร่องไปหรือให้ภาพความหมายไม่เพียงพอ
จึงจำเป็นที่จะต้องนำเอาสิ่งอื่นเข้ามาขัดเกลาให้ชัดเจนได้รูปความที่จะพยากรณ์
ท่านสอนเสมอว่าการจะใช้ทักษาให้ได้ผลเป็นอัศจรรย์นั้น
จำเป็นต้องอ่านพื้นดวงให้มีความชัดเจนเสียก่อน คือต้องดึงภาพความหมายออกมาจาก ดาว
ราศี ธาตุ จุดสัมพันธ์ถึงกัน(เรือน,มุมสัมพันธ์) ออกมาให้ได้
แล้วจะหยิบจับทักษาเข้ามาอ่านร่วมก็ย่อมจะมีความคล่องตัวในการพยากรณ์ ไม่ใช่แค่
"ศรี กับ กาลี"
แต่สามารถที่จะนำเอาเรือนทักษามาใช้ให้เห็นภาพได้ทุกเรือน
ธีรพร เพชรกำแพง
๔/๕/๕๗