ดาวเกษตรคำกลอน
เกษตรอาทิตย์สถิตสิงห์
ปัญญายิ่งยศถาจะหาไหน ทั้งรูปงามนามดีศรีวิไล จะมีชัยแก่ศัตรูในหมู่พาล ทายว่าดีมีทรัพย์เป็นหนึ่ง
จะขังขึงโตใหญ่แผ่ไพศาล มีช้างม้าข้าไทที่ใช้การ ทั้งวงศ์วานญาติมิตรสนิทดี
เกษตรจันทร์นั้นหนอกรกฏ
จะมียศศักดิ์เลิศประเสริฐศรี โภคทรัพย์คับคั่งจะมั่งมี
อีกถิ่นที่เรือกสวนล้วนไร่นา มีคนรักพักพาได้อาศัย ไม่มีใครจงจิตริษยา
รูปก็ดีมีสุขทุกทิวา ญาติกามากมายเป็นก่ายกอง
เกษตรอังคารฐานที่อยู่พิจิก
อีกสถิตเมษมีราศรีสอง มียศศักดิ์หนักหน้าหัวหน้ากอง ทั้งเงินทองบริบูรณ์เพิ่มพูนมา
อีกปัญญาพาทีก็ดีล้น ศัตรูยลเกรงอำนาจวาสนา จะขึ้นชื่อลือเลี่องเปรื่องปรีชา
เป็นใหญ่กว่าท่านทั้งหลายสบายใจ
เกษตรพุธหยุดที่มิถุนกันย์
ช่างจำนรรแจ่มแจ้งแถลงไข โคลงกาพย์ฉันท์นั้นเล่าย่อมเข้าใจ
ปัญญาไวช่างคิดประดิษฐ์ดี ทรัพย์โภคามาสู่ไม่รู้ขาด เฉลียวฉลาดไม่มีทุกข์เป็นสุขี
มิตรสหายพี่น้องปรองดองดี มีไมตรีรักกันไม่ฉันทา
เกษตรพฤหัสจำกัดถิ่น
ธนู มีน รู้คัมภีร์ดีนักหนา เฉลียวฉลาดชาติกวีมีปรีชา ท้าวพระยามักนิยมชมทุกชน
มีโภคาปรากฏทั้งยศศักดิ์ เจนประจักษ์สารพัดไม่ขัดสน เจรจาพาทีมีมงคล
ทุกตำบลบูชาเป็นอาจารย์
เกษตรศุกร์พฤษภสมทบตุล
จะมีบุญยศศักดิ์เป็นหลักฐาน ทั้งข้าวเกลือเหลือล้นพ้นประมาณ
มีถิ่นฐานบ้านนาและลาโภ เป็นที่พึ่งญาติกาได้อาศัย โดยน้ำใจอารีดีนักโข
มีความสุขเย็นใจไร้ทรวงโซ ไม่เลโลอาภัพอับประมาณ
เกษตรเสาร์เนาว์มกรไม่ร้อนจิต
กำเริบฤทธิ์เป็นพระยาใจกล้าหาญ แม้นอาสาเจ้านายคงได้การ โปรดประทานลาภยศปรากฏจริง
มีโภคาข้าคนไม่จนยาก เมียก็มากเจ้าชู้เชิงผู้หญิง ปัจจามิตรเกรงอำนาจไม่อาจติง
เพื่อนฝูงยิ่งโรคห่างค่อนข้างเบา
เกษตรราหูอยู่กุมภะ
จักชนะสงครามไม่คร้ามเขา มักดื้อด้านดุดันขันไม่เบา แต่ผมเผ้าค่อนข้างบางห่างโรคี
ชอบรื่นเริงเชิงทหารในการรบ ศัตรูหลบตัวปลีกเลี่ยงหลีกหนี คนอาศัยพึ่งพาบารมี
เชื้อยักษีราหูทายดูเอย
ความเห็นส่วนตัว
:
เป็นการประพันธ์แบบกลอนสี่สุภาพหรือกลอนแปด บอกราศีที่ดาวเกษตรนั้นสถิต
เข้าใจว่าน่าจะเป็นการประพันธ์ขึ้นในชั้นหลัง
เพราะมีการรับสงเคราะห์เอาราหูฉายาเคราะห์มาเป็นดาวเกษตรราศีกุมภ์
ที่ตามแบบสัปตเคราะห์เดิม ดาวเสาร์จะทำหน้าที่เกษตรสองเรือนที่เรียกว่าทวีภาวะราศี
คือดาวเสาร์เป็นทั้งเกษตรในราศีมกรและกุมภ์ด้วย ต่อมาเมื่อ “มโนคติ”
ของโหราจารย์ท่านสงเคราะห์เอาราหูเข้ามาใช้เป็นระบบ “อัฐเคราะห์”
จึงมีคำพยากรณ์เหล่านี้ของราหูตามออกมาในภายหลัง
หรือบางบทบางตอนยังหาความหมายให้ไม่ได้ ท่านมักระบุไว้เพียงว่า “ให้ทายอย่างเสารัน
เท่านั้นเอย” คือให้ทายเหมือนกับดาวเสาร์นั้นเอง
เรื่องนี้จึงน่าคิดต่อยอดถึงคำพยากรณ์ในด้านต่างๆของราหู
และพิสูจน์ดูในสถิติความเป็นไปของความหมายตามเหตุผลต่างๆที่ควรจะเป็นในโครงสร้างของการพยากรณ์นั้น
ธีรพร เพชรกำแพง
22
มีนาคม 2558