10 พฤศจิกายน 2555

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน ตำราเถรสามทอง




ตำราเถรสามทอง
กัลยาณมิตรอันเป็นที่รัก พูดถึงตำราเถรสามทองนี้ ทำให้นึกถึงการท่องจำเล่นๆตอนเป็นเด็กสมัยก่อน ว่าเป็นคำคล้องจองเชื่อมโยงกันดี และมีความหมายเชิงพยากรณ์ ที่ท่านใช้ประดุจกาลชะตาทำนายเรื่องดีร้ายในสมัยก่อน ซึ่งคนในสมัยเก่าก่อนนี้เวลาเข้ามาถามหมอดูมีเรื่องร้อนมาไม่กี่ประเด็น คือ ข้าวของคนวัวควายหายจะได้คืนไหม? คนเจ็บคนไข้จะเป็นอย่างไร? คนที่อยู่ทางไกลเป็นตายร้ายดีอย่างไร? ก็ถามอยู่ในวงแคบๆแต่ก็ด้วยความรุ่มร้อนอยากทราบเป็นทุนจึงมาหา ท่านก็เอา ตำราเถรสามทอง นี้เองขึ้นมาตอบ โดยพิจารณาจากดิถีชาวบ้านตามปฏิทิน(สมัยก่อนว่าปักกะทิน) ว่าวันนี้จะขึ้นแรมอย่างไรก็ช่าง ดูว่ากี่ค่ำ ตกคำพยากรณ์ตัวไหน ท่านก็ตอบตามฝอยพยากรณ์ ชนิดถามมาตอบไปกะทัดรัดชัดเจนในใจความไม่ต้องถามต่อ ถามต่อทั้งคนถามคนตอบนิวรณ์มันจะครอบงำให้วิจิกิจฉา คือลังเลสงสัย ทีนี้ความแม่นยำก็จะไม่บังเกิด อย่าเตลิด..ถามมาตอบไป ไม่ต่อไต่ ถ้าเขาเป็นฝ่ายต่อไต่เราก็เงียบเอาเชิงเสียไว้แค่นั้น สมัยเป็นเด็กวิ่งเล่นไปก็ท่องไปด้วย..สนุกปากดี สักสามวันโดนดุโดนตี บอกไม่ใช่ของเล่น ไว้ท่องตอนไหว้พระ ท่านว่าอย่างนั้น ฉันหรือก็มาคิดว่า สามวันแรกที่ไม่ดุไม่ตีตอนเราเล่นด้วยท่องด้วย นี่คงประสงค์ให้เราจำได้คล่องท่องขึ้นใจ จากนั้นแล้วที่ตีนี่คือไม่ต้องการให้เห็นวิชาเป็นของเล่นไป ก็ปฏิบัติตามท่าน โดยบทท่องคล้องจองที่ว่านั้นเป็นดังนี้

กระทุงนา กระทาโยง โพรงนกกระสา กระต่ายเล่นเท้า กระเป๋าหล่นผลุง ตะกะนุงตะกะนัง กระตรากระตรำ พระยาคำ หวายน้ำลอยมา นกกระทาตีปลัก ยักหัวสูงคันนา ศาลาคนชุม จมดุมจมคำ ศาลาคร่าคร่ำ ยักขะมำป่าไป
          จากนั้นพอจำหัวจำหลักได้ก็จะนึกถึงคำพยากรณ์ได้ โดยคำพยากรณ์มีฝอยอยู่อย่างนี้

สิทธิการิยะ บัดนี้จะกล่าวถึงยาม เถรสามทอง เดือนขึ้นเดือนแรมท่านทายเหมือนกันแลฯ
ค่ำ ๑ กระทุงนา บอกข่าวตายอย่าฟัง ข่าวไข้ว่าหามิได้ ถ้าของหายทายว่ามิได้เลยฯ
๒ ค่ำ กระทาโยง บอกข่าวไข้แลตายอย่าฟัง ถ้าแลว่าของหายทายว่ามิได้เลยฯ
๓ ค่ำ โพรงนกกระสา บอกข่าวตายว่าจริง ถ้าไข้ว่าหนัก ถ้าของหายว่าได้ ของนั้นอยู่รูโพรงไม้ฯ
๔ ค่ำ กระต่ายเล่นเท้า บอกข่าวตายว่าจริง ถ้าไข้ว่าหนัก ถ้าของหายว่าได้มิได้เท่ากันแลฯ
๕ ค่ำ กระเป๋าหล่นผลุง บอกข่าวตายว่าจริง ถ้าไข้ว่าหนัก ถ้าของหายว่าจักได้ฯ
๖ ค่ำ ตะกะนุงตะกะนัง บอกข่าวตายว่ามิตาย ถ้าเจ็บไข้ว่าหนัก ถ้าของหายว่าจักได้แลฯ
๗ ค่ำ กระตรากระตรำ บอกข่าวว่าตายลำบาก ถ้าไข้ว่าหาย ถ้าของหายว่าอยู่ รีบนำหา ได้มิได้เท่ากันแลฯ
๘ ค่ำ พระยาคำ ถ้าข่าวไข้ข่าวตาย ว่าหามิได้ ถ้าของหายว่าจะได้ของแลฯ
๙ ค่ำ หวายน้ำลอยมา บอกข่าวตายว่ามิตาย ถ้าไข้ประดักประเดิด ถ้าของหายจะได้ง่ายแลฯ
๑๐ ค่ำ นกกระทาตีปลัก ข่าวตายว่าตายมิตายเท่ากัน ถ้าของหายว่ามิได้แลฯ
๑๑ ค่ำ ยักหัวสูงคันนา ถ้าข่าวตายว่ามิตายแต่ลำบาก ไข้ว่าหาไม่ ถ้าของหายว่าจักได้ จะมีที่อยู่แลฯ
๑๒ ค่ำ ศาลาคนชุม บอกข่าวตายแลว่าไข้ว่ามิได้  ถ้าของหายว่าจะได้แลฯ
๑๓ ค่ำ จมดุมจมกำ บอกข่าวตายว่าตาย ถ้าไข้หนักถ้าของหาย ว่าค้นว่ามิได้เลยแลฯ
๑๔ ค่ำ ศาลาคร่าคร่ำ ข่าวตายจริง ไข้ว่าไข้หนัก ถ้าของหายว่าจะได้ทั้งยากแลฯ
๑๕ ค่ำ ยักขะมำป่าไป บอกข่าวตายว่าจริง ถ้าไข้หนักถ้าของหายว่ามิได้เลยฯ

          อย่างนี้ท่านก็ย้ำไว้เสมอ เข้าไต้เข้าไฟท่านว่าใช้ดี ประเสริฐนัก วิชาดีอยู่ที่คนใช้เป็น แต่ถ้านำมาใช้เล่น(คำว่าใช้เล่นนี่คือใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์)วิชาก็ย่อมไม่เป็นผล ท่านจึงสอนให้เคารพในวิชานัก คำว่า สิทธิการิยะ ศักดิ์สิทธิ์ได้ก็ด้วยเหตุอย่างนี้ มิใช่หาความหมายมิได้ดังที่คนยุคใหม่เขาปรามาสกัน

ธีรพร  เพชรกำแพง
๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
(คัดวิชาจากตำราลายมือพ่อทวด)