18 พฤศจิกายน 2556

ไขประเด็น..เห็นสาระ ตอน ไม่อยากได้ขัน แค่เคารพ

ไขประเด็น..เห็นสาระ ตอน ไม่อยากได้ขัน แค่เคารพ

คำถาม : “รับขันมาแล้วจำเป็นไหมจะต้องไปเสริม ตอนนี้ไม่อยากจะได้ขัน เพราะเราบูชาและปฏิบัติไม่ได้ ทำให้เราไม่สบายจิตใจเราคิดมาก ก็เลยอยากจะเคารพนับถือท่านด้วยใจไม่ใช่ขัน

คำตอบ :
        หากมิได้มีความประสงค์ที่จะรับขันธ์นั้น ครูอาจารย์ย่อมไม่สามารถประสิทธิ์ขันธ์ให้ได้ตั้งแต่แรก เพราะคนที่จะรับขาดความพร้อมในการยอมรับนับถือที่จะเอาขันธ์นั้นมาเป็นที่ตั้งแห่งการยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นสัจจะข้อศรัทธาปฏิบัติต่างๆในการดำรงขันธ์
        อย่างกรณีนี้ขันธ์ที่รับมาย่อมถือว่าเป็นโมฆียขันธ์ไปโดยปริยาย คือมีไว้เฉยๆ แล้วเจ้าตัวปฏิบัติไม่ได้ ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ทีนี้ตัววิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยทั้งในตัวเองและองค์ท่านก็จะมีมากขึ้น ไม่สบายใจ เป็นทุกข์กังวล การรับขันธ์นั้นมีขั้นตอนก่อนรับ เพื่อเป็นการย้ำแก่ผู้รับว่าสามารถรับไปและครองขันธ์นั้นได้ ต้องยอมรับโดยดุษฎีทั้งกาย วาจา ใจ หากไม่เป็นเช่นนั้น ครูบาอาจารย์จะไม่สามารถประสิทธิ์ขันธ์ให้ได้เลย
        ส่วนการเสริมขันธ์เป็นขันธ์ในระดับที่สูงขึ้นนั้น ความจริงไม่ต้องก็ได้ เป็นการเพิ่มภาระในการปฏิบัติมากขึ้น แล้วยิ่งเจ้าตัวยังมีกิจกังวลอื่นที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ แทนที่จะเป็นคุณจะกลับเป็นโทษในภายหลังได้ ส่วนการแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อครูบาอาจารย์นั้น เป็นสิ่งสมควร จะเป็นงานไหว้ครูประจำปี หรือโอกาสวาระต่างๆ ก็หาเวลาที่จะได้เข้าหาครูบาอาจารย์บ้าง เผื่อมีข้อแนะนำใดๆท่านก็จะได้ชี้แนะ ให้เราดำรงขันธ์ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกที่ควร
        แนะนำให้ปรึกษาครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ขันธ์ให้ท่านเป็นดีที่สุด เพื่อหาทางออกที่ถูกต้อง ไม่เป็นการ "ผิดครู" แก้ไขได้อย่างเหมาะสม ตามสมควรแก่สติกำลังที่เราจะยอมรับนับถือหรือปฏิบัติได้ ไปหาคนอื่นก็จะกลายเป็นมากหมอมากความไป แก้มันที่จุดเดิมนั้นแหละ ผู้ประสิทธิ์ขันธ์มาให้ย่อมต้องรู้ผูกรู้แก้ แต่ถ้าไม่รู้แสดงว่าไม่มีภูมิรู้ภูมิธรรมเพียงพอที่จะประสิทธิ์ขันธ์รับศิษย์ได้ ถ้าเป็นอย่างหลังนี้ก็ถือว่าแย่กันทั้งสองฝ่าย กอดคอกันจมน้ำไป
(        ที่ชาวบ้านเขาครหานินทาว่ารับขันธ์มาแล้ว วิตกจริต เป็นบ้าเป็นบอ ทำอะไรก็แย่ลง ครอบครัวไม่สงบสุข ฯ ก็เพราะเหตุอย่างกรณีนี้รวมอยู่ด้วย ความจริงผู้ประสิทธิ์ขันธ์ต้องมีญานหยั่งรู้เป็นทุนเดิมอยู่ก่อน ว่าเขารับได้หรือไม่ได้ มิใช่ว่าสักแต่จะยัดเยียดขันธ์ ที่แม้แต่ความหมายความเป็นมาของคำว่า "ขันธ์","การครองขันธ์",การดำรงขันธ์"ก็ยังไม่ทราบเลย แสดงว่าภูมิไม่ถึงบอกกล่าวไม่ได้ แล้วเขาจะนำอะไรไปปฏิบัติ พอชาวบ้านถามเข้าว่าขันธ์คืออะไร เอามาทำอะไร รับแล้วรวยขึ้นไหม ทำไมต้องรับ ฯลฯ เรียกว่าจนมุมจนแต้มที่จะตอบแล้ว อย่างนี้ถือว่าเป็น "โมฆียขันธ์") d

(โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)

ธีรพร  เพชรกำแพง

ไขประเด็น..เห็นสาระ

ไขประเด็น..เห็นสาระ ตอน องค์ไม่ลง..มือสั่น

ไขประเด็น..เห็นสาระ ตอน องค์ไม่ลง..มือสั่น

คำถาม : “ตอนเรารับขัน องค์เราไม่ลง เพราะองค์ไม่เคยลงมา แต่รู้สึกว่ามือสั่นๆ จะเป็นอะไรไหมครับ

คำตอบ :
        การรับขันธ์นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ๑.ภาคบุญฤทธิ์ เพื่อปกป้องรักษาคุ้มครอง ๒.ภาคอิทธิฤทธิ์หรือภาคลงทรง เป็นการลงประทับทรงเพื่อสงเคราะห์ผู้คน นี่เป็นกิจประสงค์ขององค์ท่านผ่านบุคคลผู้เคยมีบุญสัมพันธ์กันมาก่อน เพื่อร่วมสร้างกุศลต่อในชาตินี้
        กรณีจากประเด็นคำถามนี้ ตอนรับขันธ์องค์ไม่เคยลงประทับ แต่มือสั่น ..เป็นการแสดงด้วยอำนาจฤทธิ์ขององค์ท่านให้เรารับรู้ได้ว่า องค์ท่านมีอยู่จริงเป็นการตัดวิจิกิจฉาคือข้อลังเลสงสัยความคลางแคลงใจในขั้นตอนการรับขันธ์(หรือตอนที่ท่านต้องการสื่อให้เราทราบ) เพราะการรับขันธ์นั้นจะต้องยอมรับอย่างเต็มใจ(เรียกว่ายอมรับทั้งกาย วาจา ใจ โดยดุษฎี) และยอมรับว่าท่านมีอยู่จริง
        อาการอย่างนี้บางคนก็หาว กายสั่น ตัวสั่น มือสั่น ใจสั่น หน้ากระตุก คิ้วกระตุก มือไม้สั่น หน้าแดง ยิ้มปีติ หัวเราะ น้ำตาไหล ร้องไห้ เรอคล้ายอาเจียน สะอึก บางคนก็เฉยๆแต่เขาสัมผัสได้ ฯ คือท่านทำฤทธิ์ให้เห็นและยอมรับนับถือท่านว่ามีอยู่จริง เหตุแต่องค์ไม่ลงประทับแสดงว่าเป็นภาคบุญฤทธิ์ ท่านมาเพื่อปกปักรักษาคุ้มครองป้องกัน ชักนำโน้มดลใจให้ทำกุศลกรรม ตามบุญสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกันมา
        แต่อาการอย่างเดียวกันนี้ หากองค์ท่านทำฤทธิ์ถึงระดับหนึ่งจน ร่างกลางถึงภาวะที่เรียกว่า จิตพร่องนั้นแหละ จะเกิดการลงประทับขององค์ท่านขึ้นมา เรียกว่าภาคอิทธิฤทธิ์หรือที่เรามักเรียกกันว่า ภาคลงทรงซึ่งในภาคนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ไว้โอกาสต่อไปจะได้อธิบายบอกเล่าเก้าสิบสู่กันฟังในภายหลัง d

(โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)

ธีรพร  เพชรกำแพง
ไขประเด็น..เห็นสาระ



วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน พิธีกรรมอาบน้ำเพ็ญ

        พอดีมีท่านที่เปิดประเด็นในเรื่องวันเพ็ญเดือนสิบสอง ความว่า
        ถ้าผิดไปชำระกรรมกันนะ แสงจันทร์วันนี้จะชำระผ่อนหนักเป็นเบา       
        ด้วยตัวฉันเองก็ด้อยความรู้หรือจะขาดตกบกพร่องในเรื่องเหล่านี้ไป ว่า แสงจันทร์ชำระกรรม ได้อย่างไร? ท่านที่เปิดประเด็นก็มิได้เมตตาอธิบายขยายความให้ จึงขอพับไปไว้คิดต่อเมื่อมีโอกาส

        พอกล่าวถึงเรื่องนี้ ฉุกคิด ได้ถึงปูมปัญญาพิธีกรรมของบรรพชนไทยโบราณของเรา ที่ทราบความเป็นไปของวิถีธรรมชาติ ด้วยการสังเกต และนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้อย่างดี เรียกว่าโบราณท่านก็มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์มานานแล้ว เพียงแต่คนสมัยนี้เห็นว่าคร่ำครึของเก่า เลยมองเป็นไสยศาสตร์ไปแต่ถ่ายเดียว
        พิธีกรรมที่กล่าวถึงนี้ก็คือ พิธีอาบน้ำเพ็ญ หรือจะเรียกให้ง่ายตามประสา คือ การอาบน้ำมนต์ในคืนวันเพ็ญ(พระจันทร์เต็มดวง) ซึ่งเชื่อว่าเป็นพิธีที่ช่วยเสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เพิ่มพลังวาสนา ชะตาชีวิตให้ดีขึ้น
        ดูเหมือนเป็นความเชื่อในสมัยนี้ แต่โบราณท่านกลับรู้จริงอย่างน่าอัศจรรย์ใจนัก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของการดำเนินพลังงานธาตุในจักรวาลบรรจุเข้ามาสู่โลก ๓ ส่วนด้วยกัน คือ ดวงอาทิตย์เป็นต้นกำเนิดกระแสพลังงานแห่งจักรวาลส่งอิทธิพลไปทั่ว รวมถึงโลกเราก็ได้รับกระแสพลังงานที่ว่านี้ด้วย โดยผ่านดวงจันทร์เป็นตัวกรองกระแสบ่งบอกถึงการรับกระแสพลังงานนั้น แล้วกระแสพลังงานที่ว่านี้ก็เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งในโลกทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยเฉพาะกับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายกันเลยทีเดียว อย่างเช่น น้ำขึ้นน้ำลง การเกิดเป็นชีวิตของพืช(พลังงานบ่มเพาะ) การเจริญไปของธาตุอ่อนแข็งในตัวคน(หยินหยาง) ฯลฯ เป็นต้น
        พิธีกรรมอาบน้ำเพ็ญ เป็นการสังเคราะห์พลังภายนอกเข้าสู่ร่างกายและจิตใจของคน มีจิตตานุภาพจนเป็นชีวกำลังอานิสงส์อย่างที่เกริ่นกล่าวไว้ฉันใด ก็เหมือนกับทางวิทยาศาสตร์บอกว่ารับแสงแดดอ่อนตอนเช้าร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีบำรุงกระดูกฉันนั้น โดยต้องรวมกัน ๓ อย่าง คือ พิธีกรรม + ธรรมชาติ + คน(ร่างกายและจิตใจ)
        เรื่องนี้มิได้กล่าวอย่างเลื่อนลอยไร้เหตุผล แต่ที่มาที่ไปปรากฏมีอยู่ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เดิมนั้นจะจัดพิธีกรรมนี้ในวันเพ็ญเดือน ๓ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา ต่อมาจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ที่เห็นจะมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว คือ พิธีอาบน้ำเพ็ญของสายวัดสุทัศน์ ของสมเด็จพระสังฆราชแพ ติสฺสเทโว พิธีของท่านจะให้อาบกลางแจ้ง โดยรอฤกษ์ที่พระจันทร์ลอยเด่นอยู่กลางศีรษะ ในช่วงเวลานั้นจะพบว่าเงาของพระจันทร์ลอยอยู่กลางขันน้ำมนต์พอดี เพราะทุกครั้งที่พระจันทร์เต็มดวง แรงพลังอำนาจจากพระจันทร์จะทำให้น้ำในโลกถูกยกตัวสูงขึ้นกว่าธรรมดาทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกตามธรรมชาติ
        บางสำนักจะจัดให้มีพิธีสะเดาะเคราะห์สืบชะตา อธิษฐานบารมีจิตร่วมด้วย บางที่ท่านจะคำนวณเวลาเพ็ญจริงของดวงจันทร์ คือช่วงเวลาดวงอาทิตย์ตกและดวงจันทร์ขึ้น(ทางโหราศาสตร์เรียกว่าการเล็งกันหรือทำมุม ๑๘๐ องศา) เป็นองค์ฤกษ์ประกอบพิธีประสิทธิ์น้ำ และใช้องค์ฤกษ์เวลาดวงจันทร์ตรงศีรษะเป็นพิธีกรรมการอาบน้ำเพ็ญ
        สำหรับฉันถือว่า วันเพ็ญ เดือน ๑๒ นี้ เป็นวันที่ดวงจันทร์สังเคราะห์กระแสธาตุจากดวงอาทิตย์เข้าสู่โลกอย่างเต็มที่ สังเกตจากดวงจันทร์จะใหญ่มาก ตามสายวิชาของฉันจะประสิทธิ์น้ำพระพุทธมนต์อิงซึมซาบกระแสโลกธาตุ(ที่สังเคราะห์แล้วจาก อาทิตย์ จันทร์ และโลก)ในคืนนี้ โดยใช้ขันน้ำมนต์โลหะทรงบาตร ยิ่งได้ขันนวโลหะยิ่งดี หรือจะเป็นขันเงิน ขันทองเหลือง ขันนาก แต่ถ้าเป็นขันทองแดงให้ใช้รดน้ำมนต์เพื่อป้องกันอย่างเดียว(ห้ามดื่มกิน) เพราะโลหะแต่ละชนิดมีธาตุพิเศษอยู่ในตัว อย่างธาตุทองนี่รักษา ทองเหลืองส่งเสริม ทองแดงป้องกัน เป็นต้น พอได้องค์ฤกษ์ก็ประกอบขั้นตอนประสิทธิ์น้าพระพุทธมนต์ อาราธนาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เทพยุดา เหล่าพรหมเจ้า แลด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ อัญเชิญบารมีท่านมาประสิทธิ์ประสาทเป็นน้ำพระพุทธมนต์ไว้สงเคราะห์ชนทั้งหลาย(อย่าลืมหัวใจสำคัญของการทำน้ำมนต์ ๔ บทหลักต้องท่องบรรจุไว้ด้วย) เป็นพิธีกรรมที่สำคัญสำหรับฉันอย่างหนึ่งที่ทำเพียงปีละครั้งเท่านั้น.

ธีรพร  เพชรกำแพง
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ที่มาของการเขียนบทความ : จากกลุ่มสมาคม ร่างทรงแห่งสยามประเทศ(facebook) เห็นโพสต์อะไรแปลกๆ แล้วอยากให้ความจริงละอัตตา(ปราบพยศ)บ้าง

6 พฤศจิกายน 2556

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน รำพึงรำพัน...คิดถึงทักษา

หาเวลามาบ่นพึมๆพำๆ

...ทักษาและมหาทักษานั้น ความจริงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใส่ใจในการที่จะศึกษา เพื่อให้จำ ตรึก ตรอง และคิดประสมคำพยากรณ์ออกมาชัดเจนและตรงประเด็นจากโครงสร้างดวงชะตา

...แต่ผู้ศึกษาประเดี๋ยวนี้กลับมองว่าหยาบไม่ลึกซึ้งเพียงพอ ซ้ำยังมีกฏเกณฑข้อแก้ข้อห้ามข้อยกเว้นอะไรต่างๆอีกมากมาย ซึ่งความจริงเรื่องเกร็ดเกณฑ์ทักษานั้น ครูบาอาจารย์ในชั้นหลังท่านใช้แล้วดีจึงมีมติไว้ใช้ต่อกันมา

...ทักษาว่าด้วยกระแสธรณีธาตุล้วน ที่มีตั้งมาอยู่ก่อน โบราณรู้เหตุสังเกตอาการความเป็นไปไว้ จึงแยกพฤติการต่างๆไว้โดยมีตัวแทนคือดาว แล้ว/หรือรวมเข้าจากความเป็นไปของพิภพนี้แต่ละด้านเข้าไว้โดนมีสิ่งบ่งบอกตัวแทนก็คือดาวนั้นอีก กระแสแห่งทักษาจึงเป็นสองอย่างที่เคยกล่าวไว้ครับ

ธีรพร  เพชรกำแพง
๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

7 ตุลาคม 2556

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน รำพึงรำพัน...เก็บเล็กๆเล่าขาน

โหราศาสตร์ไทย เป็นการศึกษาประเภทเรียนรู้บ่มเพาะหลักวิชา ความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนในการเรียนรู้และนำไปใช้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาในระดับพื้นฐานให้ได้ทราบความเป็นมา ที่มาที่ไป สิ่งใดมีอยู่ไว้เพื่ออะไร ฯ จากนั้นก้าวขึ้นสู่ระบบทางโหราศาสตร์ไทยว่ามีการบัญญัติข้อพิจารณาปัจจัยโครงสร้างว่าใช้อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร ตามหลักวิถีวงจรธรรมชาติ ตรงนี้มีระบบหลายอย่างที่สร้างขึ้นต่อเนื่องจากการศึกษาในชั้นพื้นฐาน และระบบที่สร้างใหม่ด้วยความเข้าใจในขั้นระบบนั้นแล้ว เมื่อมีความคล่องตัวในการใช้โหราศาสตร์ไทยมากขึ้นจนถึงขั้นประยุกต์ ในชั้นนี้สามารถที่จะโยกเอาหลักการวิธีในการพยากรณ์มาสอบทวนหาเหตุผลทางการพยากรณ์ เป็นส่วนที่อาศัยประสบการณ์ในสองขั้นที่แล้วและการผ่านการพิจารณาดวงชะตามาพอสมควร จนรู้ว่าดวงชะตาใดควรวิเคราะห์พิจารณาในลักษณะใด โดยไม่หลุดไปจากความเป็นเหตุเป็นผลที่อยู่ในขั้นตอน ๓ ขั้นทางโหราศาสตร์ไทย
นักโหราศาสตร์ไทยรุ่นเก่ามักจะต้องปรับความรู้ความเห็นทัศนคติของผู้เป็นศิษย์อยู่เนืองๆ เพื่อไม่ให้หลุดไปจากกรอบความคิดทางโหราศาสตร์ไทย เพราะเหตุที่ว่าในการศึกษานั้นขั้นตอนทั้ง ๓ ขั้นนั้นย่อมเห็นอยู่ลางๆเป็นสิ่งล่อใจให้นักศึกษาเกิดความวิปลาส(ความเข้าใจคลาดเคลื่อน)และยึดเป็นอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้)ขึ้นมา ท่านจึงต้องชำระความเข้าใจให้ศิษย์ได้เห็นความเป็นไปของทิศทางเอกลักษณ์โหราศาสตร์ไทยอยู่เสมอ โดยสิ่งที่ท่านนำมาปรับเจตคติให้ศิษย์เห็นความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ตลอดนั้นก็คือ โครงสร้างดวงชะตา เป็นการแสดงภูมิบำหราบจิตที่ทะเยอทะยานเกินความพอดีหรือรีบเร่งที่จะเจนจบทางหลักวิชา การแสดงเหตุผลทางโครงสร้างดวงชะตานั้น ทำให้ผู้ศึกษาเมื่อเห็นทราบเข้าใจตามที่ท่านชี้แนะแล้ว ย่อมไม่ยึดติดหรือหลงไปกับสิ่งประดับในทางปลีกย่อย เช่น มาตรฐานดาว รูปตัวอย่างดวงชะตา ไม้เด็ดเคล็ดลับต่างๆเป็นต้น เพราะเหตุที่เห็นโครงสร้างดวงชะตาอันเป็นของจริง ข้อวิเคราะห์พิจารณาย่อมชัดเจนเป็นเหตุเป็นผลต่อกันในทุกแง่มุม เมื่อชำนาญแล้วจะหยิบจับเรื่องใดเข้ามาสวมเสริมพิจารณาด้วยก็มิใช่เรื่องยากอันใด ซ้ำจะเป็นการรู้ด้วยว่าสิ่งใดใช้ร่วมกันได้หรือสิ่งใดเข้ากันไม่ได้ เป็นการง่ายในการหาข้อยุติทางหลักวิชาเพื่อให้สอดคล้องต้องกันอย่างเหมาะสมกับการพยากรณ์นั้นเอง

ธีรพร  เพชรกำแพง

๘ ตุลาคม ๒๕๕๖

5 ตุลาคม 2556

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน รำพึงรำพัน...ว่าไปเรื่อย

...ในส่วนของโหราศาสตร์ไทยนั้นมิได้เป็นเรื่องเร้นลับแต่ประการ ใด มีการศึกษาพัฒนาถ่ายทอดต่อเนื่องอยู่เป็นระยะ พระเคราะห์ ฉายาเคราะห์ จุดชะตาสำคัญ และโครงสร้างดวงชะตา ทางโหราศาสตร์ไทยนั้นเป็นสิ่งที่บ่งบอก "สิ่งที่เกิดขึ้น" ตามรูปแบบที่ควรจะเป็นไปในลักษณาการของเรื่องอันควรเกิด โหราศาสตร์ไทยจึงมี "ศาสตร์" อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดใน ๓ ขั้นตอนคือ ๑.พื้นฐานทางโหราศาสตร์ฯ ๒.ระบบทางโหราศาสตร์ฯ ๓.การประยุกต์ทางโหราศาสตร์(ชั้นเอกลักษณ์) อีกส่วนคือในด้าน "ศิลป์" นั้นเป็นขั้นตอนการใช้อย่างเหมาะสมลงตัวในลักษณะ"เสริมกัน"ไป แม้มีความแย้งในการอ่านดวงบ้าง ย่อมต้องอ่านไปทางสมดุลดวงชะตา มิใช่หักล้างจนถึงทางตันคำพยากรณ์ขัดแย้งกัน อย่างนี้ไปไม่ตลอดรอดฝั่งเป็นแท้

...โหราศาสตร์ไทย ใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลที่อยู่ในดุลพินิจของหลักวิชา อันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การศึกษาทุกขั้นตอนถือว่ามีความสำคัญ ตลอดจนถึงการใช้ด้วยความประนีตสุขุมกลั่นกรองเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง อย่างนี้จึงได้ชื่อว่า "ประโยชน์สาระทางโหราศาสตร์ไทย" เกิดขึ้นกับตนแล้ว

ธีรพร  เพชรกำแพง
๖ ตุลาคม ๒๕๕๖

1 ตุลาคม 2556

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน รำพึงรำพัน...พระอังคาร

รำพึงรำพัน...พระอังคาร
บุคคลที่มีพระอังคารในดวงชะตาเด่น จะแสดงให้เห็นถึงความกล้าแกร่ง มีแรงกายแรงใจมุ่งกระทำที่ชัดเจน มีความมุ่งมั่นจริงจังกับชีวิต ไม่ประหวั่นกับการเผชิญและแก้ไขปัญหาของชีวิต ก้าวไปข้างหน้าอย่างเด็ดเดี่ยวปราศจากความกลัวและความประหวั่นพรั่นพรึง มั่นใจ อดทน อาจหาญ สมบุกสมบัน ไม่พิธีรีตองหรือมีแบบแผนมากนัก คิดจะทำต้องได้ทำเดี๋ยวนั้น พระอังคารที่ดีจะส่งผลให้บุคคลมีความซื่อสัตย์และเชื่อถือได้ โหรไทยเราจึงมักกล่าวถึงคนที่มีพระอังคารเด่นว่า กล้าแข็งขัน ขยัน อาสาดี ในส่วนด้านลบของพระอังคารในดวงชะตาบุคคลนั้น จะทำให้เป็นคนหุนหันพลันแล่น อารมณ์ร้อนรวดเร็ว ปราศจากการตัดสินใจที่รอบคอบ โมโหโทสะ การกระทำรุนแรง  หึงหวง เย่อหยิ่ง หลงระเริงในกำลังความสามารถ มองปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มองการณ์ไกล
โหราศาสตร์ไทยเราถือว่าพระอังคารเป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำ แบ่งกระแสดาวออกเป็นสองส่วน หรือที่เรียกว่า ทวิภาวะ คือมีกระแสส่งออกและกระแสรับเข้า ในกระแสส่งออกนั้นจะหมายถึงการพุ่งมุ่งกระทำริเริ่มเพื่อให้บรรลุสิ่งประสงค์ฯ ส่วนกระแสรับเข้านั้นจะหมายถึงการสำเร็จสิ้นสุดของการกระทำรวมถึงการปรับปรุงแก้ไขการกระทำนั้น เพราะฉะนั้นในเรื่องการกระทำต่างๆนี้เราจะพิจารณาพระอังคารเป็นหลักประกอบสำคัญ โดยการพิจารณาผลว่าในขณะนั้นพระอังคารเป็นกระแสที่ส่งออกหรือรับเข้า เราจะพิจารณาจากโครงสร้างดวงชะตาที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอังคาร ยกตัวอย่างเช่น หากพระพฤหัสบดีมีสัมพันธ์ที่ดีกับอังคาร อย่างนี้เราจะเห็นกระแสส่งออกเน้นชัดเป็นความหมายที่ว่า การกระทำ(๓)ที่มุ่งสู่ความสำเร็จ(๕) ในทางกลับกันสมมติว่า พระเสาร์ส่งสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่ออังคาร อย่างนี้เป็นกระแสรับเข้าเน้นเป็นปัญหา การกระทำ(๓)ที่เป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง(๗) อย่างนี้เป็นต้น
ความเด่นดีของพระอังคาร(หรือพระเคราะห์อื่น)ในดวงชะตาตามหลักโหราศาสตร์ไทยเรานั้น มิใช่เพียงแค่มาตรฐานดาวที่ว่าเป็นเกษตร อุจ มหาจักร ราชาโชค ฯ เท่านั้น แต่การจะเห็นว่าเด่นดีนั้นพึงพิจารณาจากกระแสโครงสร้างของดวงชะตานี้ ในขณะเดียวกันดาวที่ได้มาตรฐานเด่นดีในดวงชะตา พอพิจารณาดวงว่าสูงเด่นแต่ชีวิตจริงกลับตรงกันข้าม นั่นเป็นเพราะการมิได้ให้ความสนใจกับกระแสโครงสร้างของดวงชะตาเข้ามาพิจารณาเป็นหลัก ไปเห็นมาตรฐานของดวงดาวสำคัญกว่าดวงคนนั้นเอง

ธีรพร  เพชรกำแพง

๑ ตุลาคม ๒๕๕๖

30 กันยายน 2556

พระเคราะห์กับอาชีพ

พระเคราะห์กับอาชีพ
.อาทิตย์ ผู้บริหาร นักการเมือง นักค้าอัญมณี นักวิทยาศาสตร์ ผู้นำ ผู้ควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ จักษุแพทย์ ฯลฯ
.จันทร์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ งานเกี่ยวกับผู้หญิงและเด็ก ผู้ประกอบอาหาร ร้านอาหาร การเดินทาง ท่องเที่ยว ธุรกิจนำเข้า/ส่งออก งานเกี่ยวกับทางน้ำ ฯลฯ
.อังคาร งานเกี่ยวกับไฟฟ้า แร่ธาตุ โลหะ อาวุธ นักคิดค้น วิศวกร งานก่อสร้าง โยธา ทหาร ตำรวจ แพทย์ผ่าตัด งานช่าง เครื่องยนต์กลไก ฯลฯ
.พุธ งานที่ต้องใช้สติปัญญา การเขียน การศึกษา ถ่ายทอด งานสอน ฝ่ายสินค้า เสมียน บัญชี บรรณาธิการ ฝ่ายตรวจสอบ การขนส่ง การแสดง โฆษก วิทยากร ฯลฯ
.พฤหัสบดี นักวิชาการ การเงิน สินเชื่อ กฎหมาย นักบวช นักการเมือง นักโฆษณา ครู แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นักจิตวิทยา นักมนุษยธรรม พระ ฯลฯ
.ศุกร์ งานด้านศิลปะสุนทรียภาพ ความสวยความงาม ดนตรี ดารา งานบันเทิง กระแสนิยม โรงแรม สถานบันเทิง งานพาณิชย์เชิงศิลป์ ฯลฯ
.เสาร์ อสังหาริมทรัพย์ แรงงาน การเกษตร การค้า ก่อสร้าง เหมืองแร่ งานที่ต้องอาศัยประสบการณ์เฉพาะด้าน นักวิเคราะห์ ตรวจสอบ ฯลฯ
.ราหู นักวิจัย นักประยุกต์ แพทย์ เภสัชกร ผู้ผลิตหรือค้าน้ำเมา การบิน การเดินทาง ช่างไฟฟ้า งานลึกลับซ่อนเร้น ฯลฯ
.เกตุ งานแปลกแหวกแนวจากคนอื่น จินตนาการ สัมผัสนึกรู้ งานเกี่ยวกับศาสนา พระ นักเทศน์ นักบรรยาย นักสืบ ผู้มีความสามารถหลายด้าน ฯลฯ
๑๐.มฤตยู นักวิทยาศาสตร์ เทคนิกการแพทย์ นักประดิษฐ์คิดค้น คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญการแก้ไขเฉพาะด้าน ฯลฯ

ธีรพร  เพชรกำแพง
๓๐ กันยายน ๒๕๕๖


29 กันยายน 2556

คำพยากรณ์ลัคนาเกาะตรียางค์ (ของเก่า)


.ราศีเมษ
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๓ ความว่า ไฟจะไหม้เรือนรับทุกข์ แล้วเกิดสุขท่านให้ฐานา
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๑ ความว่า ฉลาดในการดนตรี สุนทรียภาพ
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๕ ความว่า จะเป็นเสนาท้าวพระยาผู้ใหญ่
.ราศีพฤษภ
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๖ ความว่า จะเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๔ ความว่า ทำการค้าขายของหอมดอกไม้
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๗ ความว่า เป็นผู้ขายเนื้อขายปลา
.ราศีมิถุน
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๔ ความว่า ฉลาดวิชาหมอรักษาสัตว์
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๖ ความว่า เป็นผู้ขอผู้ติดต่อรับใช้ท่าน
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๗ ความว่า เป็ช่าชำนาญด้านโลหะ
.ราศีกรกฎ
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๒ ความว่า เป็นพ่อค้าต้นไม้ดอกไม้
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๓ ความว่า รู้การงานดีประกอบด้วยทรัพย์
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๕ ความว่า ฉลาดตามวิชาการความรู้
.ราศีสิงห์
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๑ ความว่า เป็นช่างปั้นช่างศิลป์
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๕ ความว่า เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๓ ความว่า จะเป็นโจรใหญ่ใจหาญ
.ราศีกันย์
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๔ ความว่า ฉลาดในการฟ้อนรำ
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๗ ความว่า จะได้รักษาสมบัติท้าวพระยา
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๖ ความว่า จะได้มีอำนาจเป็นเสนาบดี
.ราศีตุล
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๖ ความว่า จะมีความผิดด้วยคู่ครองผู้อื่น
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๗ ความว่า จะเป็นหัวหน้าโจรหัวหน้านักเลง
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๔ ความว่า จะได้เป็นอำมาตย์
.ราศีพิจิก
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๓ ความว่า มักอิจฉา เจรจาอำพราง
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๕ ความว่า จะเป็นใหญ่แก่นายโจร
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๒ ความว่า เป็นผู้สลัดกิเลสผูกมัดได้ง่าย
.ราศีธนู
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๕ ความว่า จะได้เป็นใหญ่ในถิ่นที่ตนอาศัยนั้น
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๓ ความว่า มักชอบที่รโหฐาน ทำการเงียบสงัด
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๑ ความว่า เป็นผู้มีเรือกสวนไร่นา
๑๐.ราศีมกร
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๗ ความว่า จะได้ที่แดนเรือกสวนไร่นา
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๖ ความว่า มักถือสาพยาบาท เจรจาลับอำพราง
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๔ ความว่า จะได้เป็นเสนาราชการ
๑๑.ราศีกุมภ์
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๗ ความว่า เป็นช่างชาญสันทัดการจักสาน,งานไม้
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๔ ความว่า จะได้เป็นอำมาตย์ราชการแผ่นดิน
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๖ ความว่า มักชอบที่สงบสงัดเงียบ เร้นลับ
๑๒.ราศีมีน
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๕ ความว่า มีความรู้วิชาการอันประเสริฐ
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๒ ความว่า เป็นพ่อค้าพาณิชย์ผลาหาร
ลัคนาเกาะตรียางค์ ๓ ความว่า เป็นพ่อค้าพาณิชย์โลหะ

ธีรพร  เพชรกำแพง

คัดสำเนาเค้าความเดิม

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน ยามอริยสัจ ๔

ยามอริยสัจ ๔


          ในอดีตที่ผ่านมานั้นความรู้วิชาหมอดูหรือการพยากรณ์ทำนายทายทัก ส่วนใหญ่จะตกอยู่แวดวงของพระสงฆ์ที่ท่านใช้เป็นหลักวิชาสงเคราะห์คนตามสมควรแก่สมณสารูปที่พอจะช่วยเหลือได้ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำท่านมักเทียมเทียบไว้กับความรู้ทางพระพุทธศาสนา นับเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนที่อยากเรียนวิชาเหล่านี้ ไดซึมซาบเอาความรู้หลักธรรมเข้าสู่จิตใจด้วย อย่างเช่นตำราพยากรณ์กาลชะตา ยามอริยสัจ ๔ นี้ก็มีสืบเนื่องกันมา จากแวดวงพระสงฆ์ก็เป็นฆราวาสผู้คงแก่ธรรมได้นำมาใช้ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือคน ด้วยเป็นหลักวิชาที่เข้าใจและจดจำง่าย คือประกอบด้วยองค์อริยสัจ ๔ ประการนำมาพิจารณาดวงยาม คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค โดยมีรูปแบบการเรียงองค์ยามเป็นรูปกากบาท ทุกข์อยู่บน นิโรธอยู่ล่าง สมุทัยอยู่ซ้าย และมรรคอยู่ขวา ดังรูปที่แสดงนี้


          วิธีการนับเรียงยามท่านให้ใช้ดิถีข้างขึ้นข้างแรมเป็นเหตุแห่งการนับเวียนไป โดยระหว่างข้างขึ้นและข้างแรมนับต่างกัน ข้างขึ้นนับแต่ทุกข์วนซ้ายไปสมุทัย นิโรธ และมรรค ตามจำนวนค่ำของดิถี ส่วนข้างแรมนับแต่ทุกข์วนขวาไป มรรค นิโรธ และสมุทัยตามจำนวนค่ำของดิถี เช่น เขามาหาเราในวันแรม ๗ ค่ำ ให้นับวนขวาตั้งแต่ทุกข์ มรรค เรื่อยไปจนครบ ๗ ค่ำ ตกที่องค์ยามนิโรธ จึงให้ใช้ฝอยพยากรณ์ขององค์ยามนิโรธเป็นมูลทำนาย
.ทายของหาย
ตกทุกข์ ทายว่า ให้รีบหา หากช้าจะหายเลย   ตกสมุทัย ทายว่า  ได้หรือไม่ได้เท่ากัน
ตกนิโรธ ทายว่า หายสูญ                           ตกมรรค ทายว่า ได้คืนเร็ววัน
.ทายสัตว์หาย
ตกทุกข์ ทายว่า จะได้คืน มีคนนำมาให้          ตกสมุทัย ทายว่า ถูกคนลักพาไป
ตกนิโรธ ทายว่า จะคืนมาเอง                     ตกมรรค ทายว่า รีบตามหาอย่าช้า จะได้คืน
.ทายคนไปทางไกล
ตกทุกข์ ทายว่า มีเหตุอยู่ ประเดี๋ยวจึงกลับ     ตกสมุทัย ทายว่า กำลังเดินทางมาระหว่างทาง
ตกนิโรธ ทายว่า มีเหตุยังมาไม่ได้                 ตกมรรค ทายว่า ประเดี๋ยวมาถึงไม่ช้านาน
.ทายการไปติดต่อ
ตกทุกข์ ทายว่า ได้พบแต่ตกลงกันไม่ได้ ตกสมุทัย ทายว่า ได้พบแต่เลื่อนผัดไป
ตกนิโรธ ทายว่า ไม่พบ เสียประโยชน์เปล่า ตกมรรค ทายว่า ได้พบตกลงกันดังหวัง
.ทายการเจ็บป่วย
ตกทุกข์ ทายว่า กำลังเป็นไข้หนัก แต่ไม่ตาย    ตกสมุทัย ทายว่า อีกไม่กี่วันก็หาย
ตกนิโรธ ทายว่า ไข้หนักอาจถึงตาย              ตกมรรค ทายว่า ไม่เป็นไรถ้าไข้ก็หายดีแล้ว

          ในตำราเดิมเรื่องราวสมัยก่อนๆ ก็หนีไม่พ้น ๕ ประเด็นหลักนี้ พอมาในสมัยยุคปัจจุบัน เหตุที่ต้องการถามต้องการรู้นั้นมีมากหลากประเด็น ท่านจึงได้สงเคราะห์พอทำเนาไว้พิจารณาพยากรณ์ว่า ทุกข์คือผลหนัก สมุทัยคือเหตุแห่งเรื่อง นิโรธคือล่วงไป มรรคคือการกระทำอยู่ เช่น เขามาถามว่า จะไปค้าขายล่องใต้คราวนี้ดีหรือไม่ องค์ยามตกมรรค อันหมายถึงการกระทำอยู่ ย่อมตอบตามนัยความหมายแห่งยามว่า ถ้ากระทำตลอดรอดฝั่ง จะสำเร็จผลดี หรือหากองค์ยามตกทุกข์และเขาไม่มีเหตุพื้นฐานเตรียมพร้อมมาก่อน ย่อมตอบตามนัยความหมายแห่งยามว่า โอกาสนี้ดี แต่เหนื่อยยาก ถ้าหากวางมือมีแต่เสียไม่คุ้มทุน อย่างนี้เป็นต้น
          การศึกษาเรียนรู้วิชาเก่าๆ อันเป็นภูมิรู้ของปราชญ์โบราณนั้น ถือว่าเป็นการรักษาคุณค่าภูมิปัญญาให้สืบไป จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ที่มาที่ไป คือการศึกษาตั้งแต่ต้นเหตุ หลักการ เหตุผล ตลอดจนวิธีใช้เป็นอย่างดี จึงจะสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ได้อย่างเห็นผล ในทางกลับกัน หากศึกษาแต่ปลายเหตุแล้วนำไปใช้แบบเปรียบเทียบหาความถูกผิด พอไม่ได้ผลตามที่หวัง อย่างนี้ก็มักพลอยโทษตำราหลักวิชาไป เพราะไม่ได้รู้จริงมาแต่ต้น

ธีรพร  เพชรกำแพง
คัดสำเนาเสริมเค้าความ

27 กันยายน 2556

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน วันไชยฤกษ์หลวง


วันไชยฤกษ์หลวง

แต่ครั้งก่อนนั้น ท่านว่าจะประกอบการพิธีใดๆ เป็นสำคัญ ให้หาวันหมายมั่นเหมาะสม ตำรา ไชยฤกษ์หลวง นับเป็นอีกหลักเกณฑ์วิชาหาวันเหมาะสมในการประกอบกิจ ลักษณะคำประพันธ์คล้องจองบอกเหตุดีเหตุร้ายไว้ในตัวเสร็จสรรพ โดยการพิจารณาว่าดิถีข้างขึ้นข้างแรมใดควรใช้ประกอบการมงคล และดิถีใดต้องหลีกเลี่ยง หากเป็นการกิจที่ไม่ต้องพิจารณาฤกษ์โดยละเอียดแล้ว ท่านก็จักใช้ตำรานี้ในการให้วันดีวันเหมาะสม อย่างเช่น กรณีมีคนจะเปิดร้านขายขนมไทยๆ มีหม้อแกงบ้าง วุ้นบ้าง ตะโก้บ้าง เป็นกิจการที่ต้องใช้รถเข็นทำหน้าร้านขายตามตลาด การกระทำกิจของเขาเป็นเหตุแห่งฤกษ์เองอยู่แล้ว ผู้ให้ฤกษ์คงจะไม่รอมานั่งผูกดวงเดิมดูดวงจรวิเคราะห์ฤกษ์ล่าง-บนสอบเข้าหาโครงสร้างอาชีพ เพราะเขากำลังจะประกอบอาชีพนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ให้วันอันดีและเจรจาพาทีเป็นที่ชอบใจในการประกอบมงคลกิจแก่การเริ่มต้นของเขา ในที่นี้ก็หาวันดีตามหลักตำรา  ไชยฤกษ์หลวง ได้ ตามดิถีขึ้นแรมที่ต้องโฉลกกับเรื่องราว เช่น วัน ๓ ค่ำ ล้างมือท่ารอกิน (ดี) หรือ ๖ ค่ำ ลงสำเภาไปค้า (ดี) เป็นการเหมาะสมกับอาชีพค้าขายของเขาตรงตัวพอดี อย่างนี้เป็นต้น
          ในการหาวันนั้น ท่านให้ใช้ดิถีจะเป็นขึ้นแรมก็ใช้อย่างเดียวกัน หาวันดีเหมาะสมจากฝอยพยากรณ์ ไชยฤกษ์หลวง ดังนี้

๑ ค่ำ ช้างแก้วขึ้นสู่โรงธรรม (ดี) [ริเริ่มด้วยกาลสถานที่ดี]
๒ ค่ำ ผิฟังธรรมกลางป่าช้า (ไม่ดี) [ทำในสิ่งที่ช้าหรือสายไปแล้ว]
๓ ค่ำ ล้างมือท่ารอกิน (ดี) [สร้างเหตุปัจจัยไว้รอรับผลดี]
๔ ค่ำ นอนปลายตีนตากแดด (ไม่ดี) [ทำการใดไม่คุ้มตัว]
๕ ค่ำ ผีแวดล้อมปองเอา (ไม่ดี) [มักถูกเบียดเบียน]
๖ ค่ำ ลงสำเภาไปค้า (ดี) [เดินทางดี,มีโชคในอาชีพ]
๗ ค่ำ เคราะห์อยู่ด้านหน้าคอยชน (ไม่ดี) [มีเหตุร้ายรออยู่เบื้องหน้า]
๘ ค่ำ สาละวนบ่แล้ว (ไม่ดี) [อลวลวุ่นวาย]
๙ ค่ำ บ่แคล้วเสี้ยนพระราม (ไม่ดี) [หลบหลีกเหตุร้ายไม่พ้น]
๑๐ ค่ำ หาความงามบ่มิได้ (ไม่ดี) [ทำสิ่งใดไม่เป็นผลดี]
๑๑ ค่ำ เหตุร้ายกลายเป็นดี (ดี) [เรื่องร้ายเป็นดี]
๑๒ ค่ำ บ่มีดีสักหยาด (ไม่ดี) [ทำกิจหาดีไม่ได้]
๑๓ ค่ำ ไชยประพาสชมพู (ดี) [ความเจริญในการเดินทาง]
๑๔ ค่ำ ศัตรูปองฆ่า (ไม่ดี) [เป็นที่อิจฉาริษยาแก่คนทราม]
๑๕ ค่ำ บ่ายหน้าวายชนม์ (ไม่ดี) [มีเหตุทุกข์จนมืดแปดด้าน]

          การกล่าวมธุรสมงคลสุนทรแก่ผู้รับฤกษ์ไปใช้นั้น ถือว่ามีความสำคัญ เป็นการอำนวยพรให้เกิดโชคชัย ผู้รับฤกษ์นั้นไปย่อมเกิดกำลังใจที่จะกระทำในการกิจที่ตนมุ่งหวังผลสำเร็จไว้ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ให้ฤกษ์ไม่ควรมองข้าม ย่อมทำให้เกิดความประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับฤกษ์ ความถึงพร้อมทางกำลังใจนั่นแล..จะป็นตัวชี้บ่งผลของฤกษ์ที่ดี

ธีรพร  เพชรกำแพง

คัดสำเนาเสริมเค้าความ

25 กันยายน 2556

จักรทีปนี ตอน เสาร์


เสาร์ทับพระอาทิตย์    ปฏิสนธิในชาติ           ชนใดจะถึงฆาต  บ่มีทรัพย์จะสาธารณ์
ถ้อยความจะถึงตู  ผิวศัตรูจะปองผลาญ          แม้นหมิ่นประมาทการ ก็จะเป็นภยันตราย
เสาร์ทับพระเคราะห์จันทร์  นระนั้นบ่มิสบาย  ทรัพย์สินจะเสียหาย  อุปสรรคจะมีมา
ข้าคนและลูกเมีย  ก็จักเสียและโศกา             ขอคุณพระรักษา  ชนชีพจะยืนนาน
เสาร์สู่ ณ ราศี  ปะทะทับพระอังคาร             เกิดเหตุกลีการ  ปรปักษ์จะบีฑา
นัยหนึ่งจตุบาท  ทวิบาทและเขี้ยวงา             ระมัดระวังอา  สรพิษจะทำเข็ญ
เสารทับพระเคราะห์พุธ  ดุจะนั้นโฉลกเห็น     โชคลาภจะพูนเพ็ญ  แม้ศัตรูจะอัปรา
เสาร์ทับพฤหัสบดี สิริสวัสดิลาภา                  สิ่งสินและเงินตรา  จะลุโดยสะดวกดาย
ศัตรูจะอัปรา  และวัตถาระส่ำระสาย            สินทรัพย์จะสูญหาย  ก็จะคืนจะคงเรือน
เสาร์ถูกพระเคราะห์ศุกร์  ปะทะทุกข์พยาธิ์เรือน        โรคร้ายและหลายเดือน  ก็จะกลายจะกลับเป็น
โจรร้ายเขม้นมอง  อริปองกระทำเข็ญ           อายุบ่ยืนเย็น  มฤตย์ภัยจงเร่งเกรง
เสาร์ถึงสถิตเสาร์  ปะทะกันและกันเอง          โทษทุกข์แต่ปางเพรง  ย่อมจะก่อจะเกิดมี
สิ่งสินระส่ายทรัพย์  ภัยทับระทมทวี              เกรงอายุชนม์ชี  วิตพินาศประไลยตู
เสาร์จร ณ ราศี  อสุรินทราหู                      จักชำนะศัตรู  ประสิทธิโชคไชยา
ตำนานหนึ่งหญิง  จรสุ่มประสงค์ปลา            พบแท่นธนสาร์  กรุรัตนล้วนขุมทอง
เสาร์จรประทับลัคน์  คณานั้นจะหม่นหมอง    เสียทรัพย์และสิ่งของ  ครุเหตุจะพึงมี
ดังโปริสารทราษ  ฎรเขาก็ขับหนี                  จากขัติยาศรี  สิริราชนคร

ธีรพร  เพชรกำแพง

คัดสำเนาเค้าเนื้อความ

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน บาปเคราะห์สมเคราะห์เป็นกาลี

บาปเคราะห์เป็นกาลี
อนึ่งพาลบาปเคราะห์ เฉพาะเป็นกาลีสัญจร กระเจิงลี ปะทะลัคน์ปะทะจันทร์ เมื่อนั้นจะสูญสิ้น ชนมชีพชีวัน บ่มิเป็นอัน สุรโทษจะพึงมี ถูกอายุและมาต้องตนุเล่าถมทวี พยาธิใหญ่จะพึงมี ชนมชีพมลายไป ต้องเดชจะเกิดไฟ จะเผาเพลิงพนาลัย เรือนโรงอันอาศัย จะพินาศด้วยอัคคี บ่มิเพลิงจะพลอยตาย ย่อมต้องสายอัสนี เสื่อมยศเสียศักดิ์ศรี จะวิตกโทมนัสนัก แม้นต้องพระเคราะห์ใด ปะทะปะทุถึงลัคน์ ทุกข์โทษจะทายทัก กลกล่าวประดุจหลัง ฝูงกาลีทั้งนั้นต้องกันและกันหวัง คนชั่วจะโอหัง เข้าล่วงหมิ่นและถิ่นแคลน

สมเคราะห์เป็นกาลี
          อนึ่งตนุกดุมพะ และกาละเข้าล่วงแดน แสนโทษประทุษแสน สุรทายดังก่อนมา มีคำพร่ำแห่งโจทย์ ว่าโสดสมเคราะห์ทา ทันหกไปเป็นกา ละกรรณีบ่มีร้ายหรือ บ่มิหยิบยกแสดง แบ่งแต่บาปพระเคราะห์ถือ ส่วนสมเป็นกระลือ กระลีดีดอกฉันใด ฝ่ายศรีกระโวหาร จักแจ้งการที่สงสัย ครวญออกจากคำไข จะข่มคำซึ่งแทรกแซง สมเคราะห์ก็ดุจกัน แต่หากมันบ่ร้ายแรง บางทีเอาคดีแสดง และแบ่งความเข้าข่มขี่ อนึ่งโชคแห่งสมเทศ พระเคราะห์เกตุเล่าก็ดี บ่มีกลัวกับลาลี ไปตกภูมิดั่งนั้นมา ย่อมให้วุฒิโชค สรรพโภคโภคา สมในสังวัจฉรา ธารณโทษบ่พึงมี ผิวกาลกรรณีกาจ ชาติสมเคราะห์ก็ดี หักให้ตัวกาลี เข้าเรือนลัคน์และจักรจันทร์ ชุกโชคปางทั่วปี ภายหลังมีให้ร้ายครัน แรกร้ายให้เทิมทัน มาท่อนท้ายไชยโชคชุม กลหนึ่งภิปรายทาย ว่าจะตายด้วยโรครุม บางความว่าบ่มิคุ้ม โทษเลยอย่าควรทาย กิจนี้ให้ถ่ายเท กลเล่ห์ให้เร่งทราบ ชะตาเป็นชะตาตาย กำหนดหมายมาเทียบแทน หนึ่งเล่าหลวงพระโหร รอบรู้ตำหรับแผน ดาวเดือนตะวันแดน ดวงจักรขบวนบน แจ้งสุขทุกขภัย ในต่ำใต้แผ่นดินดล จึงจักพจนนิพนธ์ นิพันธ์ทายตำรา หวังไว้ศาสตร์สารฉบับ สืบตำรับชั่วกัลปา จึงขึ้นคำคาถาเป็นบทบาทมาลี

ธีรพร  เพชรกำแพง

คัดสำเนาเค้าสำนวน

24 กันยายน 2556

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน พระเคราะห์บอกเหตุ “ฝน ลม ไฟ”

พระเคราะห์บอกฝน
.หาก ๔ เดินร่วมราศีกับ ๑ ท่านว่าฝนชุก ถ้า ๑ ร่วมด้วยหรืออยู่ข้างหลัง แต่มี ๒๕ องศาขึ้นไป หรืออยู่ข้างหน้าแต่มีองศา ๑๒ ลงมา ฝนย่อมจะชุกมากขึ้น
.หาก ๔,๖ เดินไปเบื้องหน้าพระเคราะห์ทั้งหลายและร่วมราศีเดียวกันท่านว่าฝนตกชุกนัก ถ้าไม่ร่วมราศีฝนตกแต่พอดี
.หาก ๔,๖ อยู่ร่วมราศีเดียวกันก็ดี ๔,๕ อยู่ร่วมราศีเดียวกันก็ดี ฝนจะตกชุกมากนัก ถ้า ๕,๖ อยู่ร่วมราศีและบาทเดียวกัน ท่านว่าฝนจะตกชุกมากนัก
.หาก ๔ อยู่หลังอาทิตย์ก็ดี แต่ว่ามีองศาถึง ๒๕ ขึ้นไปแล้ว ท่านว่าคงมีฝนตกแต่ไม่สู้หนักชุกนัก ถ้า ๖ ใกล้ ๑ เข้ามา ท่านว่ายิ่งให้กำลังแรงฝนชุกยิ่งนัก
.หาก ๔ อยู่หน้า ๑ ก็ดี ทว่ามีองศาเพียง ๑๒ ลงมาท่านว่าฝนชุกบ้าง ถ้า ๖ ร่วม ๑ หรือ ๔ ด้วยแล้ว ท่านว่าฝนยิ่งจะชุกมากขึ้น

กาลแห่งฝนจะมีมากหรือน้อย
๑.หากแม้นว่า ๒ เป็น ๑-๔-๗ และเป็น ๑๐ แก่ ๑ ท่านว่าฝนวันนั้นตกมากแล
๒.หากแม้นว่า ๒ เป็น ๓-๕-๘-๙ แก่ ๑ ก็ดี และมีองศาเข้าใกล้ ๑๒ ก็ดี ท่านว่ามีฝนตกมากเสมอกัน
          อนึ่ง นัยว่าท่านให้นับหาวันตัววัสสนานฤดูแห่งอาทิตย์ คือวันที่อาทิตย์ มีองศา ๙ ราศีมิถุน ให้เอาราศีอาทิตย์ตั้ง เอาราศีจันทร์ ๓ ๔ ๖ บวกเป็นเกณฑ์ตราไว้ ถ้าพระเคราะห์ใดอยู่ในราศี ๐ ให้ยกพระเคราะห์นั้นเสีย ถ้าปีเอกเทกไปหาเบญศกเอา ๘ ลบเกณฑ์ ถ้าปีฉศกไปหาสัมฤทธิศก ให้เอา ๑๒ ลบเกณฑ์ เศษเหลือเท่าใดเอา ๑๐ คูณเป็นนิ้ว ถ้าเอา ๑๐๐ คูณเป็นสตางค์ ได้เท่าใดก็เป็นเกณฑ์ฤดูฝนเท่านั้นแล
          หากไม่มีเหตุจากดาวพระเคราะห์ใหญ่แล้ว ย่อมไม่ผิดพลาดเลย

พระเคราะห์ใหญ่บ่งบอกฝน
๑.หาก ๕ เล็ง ๘ ได้ฝน ๔๐๐ ถ้าร่วมกันได้ฝน ๓๐๐
๒.หาก ๓ เล็ง ๘ ได้ฝน ๒๐๐ ถ้าร่วมกันได้ฝน ๑๐๐
๓.ราหูมีปริเฉทข้างละ ๑๑ องศา คิดแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนละหนึ่ง เป็นเกณฑ์ ๑๐๐ ถ้าห่างกันถึง ๙ และ ๑๐ องศาแล้ว ได้ฝน ๑๐๐
๔.หาก ๐ มฤตยูดวงเดียวเข้าร่วมหรือเล็ง ๘ ย่อมเกิดฝนทวีคูณขึ้น เท่าถึง ๘๐๐ และ ๙๐๐
๕.หากมีพระเคราะห์มาเล็งหรือร่วมก็เป็นอันงดเลิกไป
๖.หาก ๗ เล็งหรือร่วม ๘ ปีนั้นท่านว่าแล้งหรือฝนน้อย
๗.หากพระเคราะห์ใหญ่เสริด พระเคราะห์น้อยมนฑ์ ท่านให้ลดเกณฑ์ฝนเสียตัวละ ๑๐๐

พระอังคารบังคับฝน
๑.พระอังคารตกปฐวีธาตุและราศีมีน ฝนตกดีน้ำงาม มนุษย์ทั้งปวงจะอุดมด้วยข้าวน้ำ ธัญญาหาร
๒.พระอังคารอยู่พิจิกและกรกฎ มีฝนบ้างเป็นประมาณ เหล่ามนุษย์หากินลำบากนัก
๓.พระอังคารตกในราศีทวารทั้ง ๔ ฝนย่อมตกน้อยเต็มทีนัก
๔.พระอังคารอยู่ในราศีเมษ มิถุน กันย์ และอาโปธาตุ ท่านว่านัยฝนแล้ง
๕.พระอังคารอยู่สิงห์ พิจิก กุมภ์ ท่านลมพัดมามากในทิศต่างๆ
๖.พระอังคาร เสาร์ อยู่ร่วมราศีและบทเดียวกัน ท่านว่าลมพัดแรงมาก ฝนน้อย มักเกิดอัคคีภัย
๗.สมมโนนัยท่านให้นับแต่ราศีเสาร์ไป ๕ และ ๙ ราศี ผิวต้อง ๓ ก็ดี และ ๕ อยู่ในราศีธาตุลมก็ดี ศุกร์เป็น ๗ ก็ดี ท่านว่าไฟจะแรง เกิดอัคคีภัยขึ้นเนืองๆแล
          ความรู้เรื่องฝน ลม ไฟ โบราณท่านวางไว้ให้เป็นบทพิสูจน์ โดยการเอาใจใส่ให้พึงเห็นประโยชน์จากข้อเท็จจริง อันควรจะพึงเกิดเพื่อความระมัดระวังรอบคอบในการทำกสิกรรม เกษตรกรรม และกิจอันพึงประสงค์ต่างๆให้เป็นผลสำเร็จนั้นเอง

ธีรพร  เพชรกำแพง
๒๕ กันยายน ๒๕๕๖


22 กันยายน 2556

บ่นความโหราศาสตร์ ตอน รำพึงรำพัน...คนกันย์เอง

รำพึงรำพัน...คนกันย์เอง

คนราศีกันย์นั้นเป็นราศีแห่งนักปฏิบัติที่มุ่งสู่ความสำเร็จและถูกต้อง ในชีวิตจึงคิดและคาดหวังว่าคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจะเป็นคนลักษณะเดียวกัน ถึงแม้จะมีธรรมชาติของความสันโดษแต่ก็พร้อมที่จะเข้ากลุ่มและสังคมด้วยการปรับตัวเพียงเล็กน้อย มักมีขั้นตอนหรือวิธีในการเผชิญและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ นอกจากเป็นนักปฏิบัติที่ดีแล้ว คนราศีกันย์ยังมีความซื่อสัตย์ ยึดความตรงมั่น และมีความทุ่มเทในการทำกิจลงทุนลงแรงต่างๆ

ราศีกันย์ราศีพฤษภ
คนราศีพฤษภเป็นราศีที่มีลักษณะหลายอย่างคล้ายกับคนราศีกันย์ ทั้งสองราศีนี้มีความชอบที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของชีวิต ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ต่างกระทำตนให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จ รู้จักการอุทิศตนและมีความซื่อสัตย์ ต่างกันบ้างว่าคนราศีพฤษภนั้นมักมีความดื้อรั้นยึดมั่นในความคิดเป็นแม่นมั่น ในขณะที่คนราศีกันย์จะรู้จักปรับประยุกต์ตนเองให้มีความยืดหยุ่นได้มากกว่า

ราศีกันย์ราศีมกร
ราศีกันย์ราศีมกร เป็นราศีที่มีความสมส่วนกันในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีวุฒิภาวะทางอารมณ์การรับรู้อยู่ในระดับเดียวกัน ต่างมีความเข้าใจในมุมมองของแต่ละ คน ชีวิตมีแบบแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน กระทำการต่อเนื่องไม่วางธุระ ใช้ความสามารถหรือทักษะอย่างจริงจังเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ จะต่างกันบ้างตรงที่คนราศีมกรมักมุ่งประเด็นลุ่มลึกจริงจังฝังใจลงไปมาก แต่คนราศีกันย์มักปรับตนให้มีความพอดีกับโครงสร้างที่มุ่งกระทำ คือไม่ทำการใหญ่เกินตัว

ราศีกันย์ราศีมีน
คนราศีกันย์นั้นมีความชัดเจนในการดำเนินชีวิตสู่โลกของความเป็นจริง ในขณะที่คนราศีมีนมักมีจินตนาการหรือมโนคติตั้งไว้ควบคู่กับการดำเนินชีวิตจริง ระเบียบแบบแผนของคนราศีกันย์จะทำให้คนราศีมีนรู้สึกถึงความเป็นขั้นเป็นตอน ที่พอจะนำไปปรับยืดหยุ่นกับชีวิตได้ ในขณะที่คนราศีกันย์ก็จะได้มองจินตนาการเป็นการตั้งความหวังหรือเป้าหมายที่ตนต้องการความสำเร็จ สิ่งที่ทั้งสองราศีนี้มีเหมือนกันคือความพยายามในการเปิดใจรับรู้ความเป็นไปหรือเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งความเป็นจริง แล้วกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

ธีรพร  เพชรกำแพง
๒๒ กันยายน ๒๕๕๖


20 กันยายน 2556

พระเคราะห์กับโรคภัยไข้เจ็บ

พระเคราะห์กับโรคภัยไข้เจ็บ

.อาทิตย์ หัวใจ น้ำดี สมอง ตา กะโหลกศีรษะ สมอง เลือด ปอด กระเพาะอาหาร เต้านม รังไข่ ถุงน้ำเชื้อ

.จันทร์ เต้านม ต่อมน้ำลาย น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำในร่างกาย ระบบต่อมต่างๆ เส้นเลือด เยื่อหุ้มหัวใจ ลำไส้ ช่องทางเดินอาหาร หลอดอาหาร หลอดลม ลมจุกเสียด ทางเดินหายใจ สายตา

.อังคาร น้ำดี หู จมูก หน้าผาก กล้ามเนื้อ เส้นใย พังผืด เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อสมองส่วนหน้า การอักเสบของอวัยวะ พร่องโภชนาการหรือมากเกินไป

.พุธ ช่องปาก ลิ้น ท้อง ปอด ลำไส้ ทางเดินอาหาร ศูนย์ประสาท น้ำดี เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ ประสาทสัมผัสรับรู้ หอบหืด หลอดลมอักเสบ ปวดหัว ประสาท ใจสั่น อวัยวะเพศ ทางเดินปัสสาวะ

.พฤหัสบดี เสมหะ เลือด ต้นขา ไต เนื้อ ไขมัน ระบบหลอดเลือด โครงสร้างทางร่างกาย หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ ช่องหูใบหู เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ลมชัก เนื้องอก เบาหวาน

.ศุกร์ เสมหะ น้ำตา รังไข่ ระบบการไหลเวียน ไต เส้นเลือด เนื้อ ไขกระดูก กระดูกโครงหน้า ผิวหนัง ต้นคอ กระเพาะ กามโรค

.เสาร์ เล็บ ผม ฟัน กระดูก เท้า เข่า ไขกระดูก ไขข้อ ม้าม  ระบบประสาท อาการทางการได้ยิน ดีซ่าน เกาต์ ซึมเศร้า วิตกกังวล วิกลจริต หอบหืด ภูมิแพ้

ธีรพร  เพชรกำแพง
๒๑ กันยายน ๒๕๕๖


บ่นความโหราศาสตร์ ตอน รำพึงรำพัน...พระเสาร์

รำพึงรำพัน...พระเสาร์
          พระเสาร์ หรือองค์ศนิเทพ อันได้รับสมญาเป็นเทวราชแห่งความมืด ประธานแห่งบาปเคราะห์อันทรงพลานุภาพในการให้คุณให้โทษแก่ดวงชะตา เมื่อพระเสาร์ให้ผลคุณนั้นอานิสงส์ย่อมมีความหนักแน่นมั่นคงสมกับที่เป็นดาวใหญ่ การดำเนินชีวิตที่มุ่งมั่นนั้นจะมีความอุดมสมบูรณ์ เกิดภูมิปัญญา ชื่อเสียง จิตวิญญาณแห่งความมุ่งกระทำ ประกอบกับความอดทน ซื่อสัตย์ และอำนาจแห่งความน่าเชื่อถือเกรงขาม รับรู้ถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรม ความรู้สึกถูกผิดจากจิตสำนึกภายใน รวามไปถึงความสามารถในการกระทำสิ่งที่บุคคลอื่นทำได้ยากยิ่ง นี้คือผลคุณอานิสงส์ที่เสาร์ช่วยผลักดันให้เป็นไป
          อีกส่วนหนึ่ง พระเสาร์จอมเทวราชด้านมืด นี้ ยังให้โทษเคราะห์ที่หนักหน่วงชนิดคืบคลานเข้ามาอย่างเนิ่นช้าแต่แผลงพลานุภาพผลอยู่ยืนยาวมีผลกระทบในด้านเสียอย่างค่อยเป็นค่อยไปและดูเหมือนจะหนักทุกข์เฉพาะหน้าขึ้นเรื่อยๆ พระเทวราชแห่งความมืดนี้ จะนำมาซึ่งความทุกข์ อุปสรรค สิ่งกีดขวางความสำเร็จ ความแตกแยก โศกเศร้า สูญเสีย ความล่าช้าเนิ่นนาน อึดอัดขัดขวาง ความหวังที่ตั้งตารอผล และการทำลายจนสิ้นไป นั้นคืออำนาจด้านร้ายด้านลบที่คนทั้งหลายไม่อยากประสบพบเจอในชีวิตของตน
          ดวงชะตาได้สร้างสมดุลแห่งธรรมชาติมาดีแล้ว ชีวิตย่อมมีทุกข์และสุขคละเคล้ากันไป การจะหลบเลี่ยงความทุกข์และเผชิญต่อความสุขอย่างเดียวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ หากแต่ต้องยอมรับนับถือกฎของความเป็นธรรมดาแห่งชีวิตนี้ว่าสุขทุกข์เป็นโลกธรรม ๘ ที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ที่จะปรับประยุกต์ความเป็นไปของตนให้ผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้อย่างไร

ธีรพร  เพชรกำแพง

๒๑ กันยายน ๒๕๕๖