29 กันยายน 2556

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน ยามอริยสัจ ๔

ยามอริยสัจ ๔


          ในอดีตที่ผ่านมานั้นความรู้วิชาหมอดูหรือการพยากรณ์ทำนายทายทัก ส่วนใหญ่จะตกอยู่แวดวงของพระสงฆ์ที่ท่านใช้เป็นหลักวิชาสงเคราะห์คนตามสมควรแก่สมณสารูปที่พอจะช่วยเหลือได้ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำท่านมักเทียมเทียบไว้กับความรู้ทางพระพุทธศาสนา นับเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนที่อยากเรียนวิชาเหล่านี้ ไดซึมซาบเอาความรู้หลักธรรมเข้าสู่จิตใจด้วย อย่างเช่นตำราพยากรณ์กาลชะตา ยามอริยสัจ ๔ นี้ก็มีสืบเนื่องกันมา จากแวดวงพระสงฆ์ก็เป็นฆราวาสผู้คงแก่ธรรมได้นำมาใช้ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือคน ด้วยเป็นหลักวิชาที่เข้าใจและจดจำง่าย คือประกอบด้วยองค์อริยสัจ ๔ ประการนำมาพิจารณาดวงยาม คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค โดยมีรูปแบบการเรียงองค์ยามเป็นรูปกากบาท ทุกข์อยู่บน นิโรธอยู่ล่าง สมุทัยอยู่ซ้าย และมรรคอยู่ขวา ดังรูปที่แสดงนี้


          วิธีการนับเรียงยามท่านให้ใช้ดิถีข้างขึ้นข้างแรมเป็นเหตุแห่งการนับเวียนไป โดยระหว่างข้างขึ้นและข้างแรมนับต่างกัน ข้างขึ้นนับแต่ทุกข์วนซ้ายไปสมุทัย นิโรธ และมรรค ตามจำนวนค่ำของดิถี ส่วนข้างแรมนับแต่ทุกข์วนขวาไป มรรค นิโรธ และสมุทัยตามจำนวนค่ำของดิถี เช่น เขามาหาเราในวันแรม ๗ ค่ำ ให้นับวนขวาตั้งแต่ทุกข์ มรรค เรื่อยไปจนครบ ๗ ค่ำ ตกที่องค์ยามนิโรธ จึงให้ใช้ฝอยพยากรณ์ขององค์ยามนิโรธเป็นมูลทำนาย
.ทายของหาย
ตกทุกข์ ทายว่า ให้รีบหา หากช้าจะหายเลย   ตกสมุทัย ทายว่า  ได้หรือไม่ได้เท่ากัน
ตกนิโรธ ทายว่า หายสูญ                           ตกมรรค ทายว่า ได้คืนเร็ววัน
.ทายสัตว์หาย
ตกทุกข์ ทายว่า จะได้คืน มีคนนำมาให้          ตกสมุทัย ทายว่า ถูกคนลักพาไป
ตกนิโรธ ทายว่า จะคืนมาเอง                     ตกมรรค ทายว่า รีบตามหาอย่าช้า จะได้คืน
.ทายคนไปทางไกล
ตกทุกข์ ทายว่า มีเหตุอยู่ ประเดี๋ยวจึงกลับ     ตกสมุทัย ทายว่า กำลังเดินทางมาระหว่างทาง
ตกนิโรธ ทายว่า มีเหตุยังมาไม่ได้                 ตกมรรค ทายว่า ประเดี๋ยวมาถึงไม่ช้านาน
.ทายการไปติดต่อ
ตกทุกข์ ทายว่า ได้พบแต่ตกลงกันไม่ได้ ตกสมุทัย ทายว่า ได้พบแต่เลื่อนผัดไป
ตกนิโรธ ทายว่า ไม่พบ เสียประโยชน์เปล่า ตกมรรค ทายว่า ได้พบตกลงกันดังหวัง
.ทายการเจ็บป่วย
ตกทุกข์ ทายว่า กำลังเป็นไข้หนัก แต่ไม่ตาย    ตกสมุทัย ทายว่า อีกไม่กี่วันก็หาย
ตกนิโรธ ทายว่า ไข้หนักอาจถึงตาย              ตกมรรค ทายว่า ไม่เป็นไรถ้าไข้ก็หายดีแล้ว

          ในตำราเดิมเรื่องราวสมัยก่อนๆ ก็หนีไม่พ้น ๕ ประเด็นหลักนี้ พอมาในสมัยยุคปัจจุบัน เหตุที่ต้องการถามต้องการรู้นั้นมีมากหลากประเด็น ท่านจึงได้สงเคราะห์พอทำเนาไว้พิจารณาพยากรณ์ว่า ทุกข์คือผลหนัก สมุทัยคือเหตุแห่งเรื่อง นิโรธคือล่วงไป มรรคคือการกระทำอยู่ เช่น เขามาถามว่า จะไปค้าขายล่องใต้คราวนี้ดีหรือไม่ องค์ยามตกมรรค อันหมายถึงการกระทำอยู่ ย่อมตอบตามนัยความหมายแห่งยามว่า ถ้ากระทำตลอดรอดฝั่ง จะสำเร็จผลดี หรือหากองค์ยามตกทุกข์และเขาไม่มีเหตุพื้นฐานเตรียมพร้อมมาก่อน ย่อมตอบตามนัยความหมายแห่งยามว่า โอกาสนี้ดี แต่เหนื่อยยาก ถ้าหากวางมือมีแต่เสียไม่คุ้มทุน อย่างนี้เป็นต้น
          การศึกษาเรียนรู้วิชาเก่าๆ อันเป็นภูมิรู้ของปราชญ์โบราณนั้น ถือว่าเป็นการรักษาคุณค่าภูมิปัญญาให้สืบไป จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ที่มาที่ไป คือการศึกษาตั้งแต่ต้นเหตุ หลักการ เหตุผล ตลอดจนวิธีใช้เป็นอย่างดี จึงจะสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ได้อย่างเห็นผล ในทางกลับกัน หากศึกษาแต่ปลายเหตุแล้วนำไปใช้แบบเปรียบเทียบหาความถูกผิด พอไม่ได้ผลตามที่หวัง อย่างนี้ก็มักพลอยโทษตำราหลักวิชาไป เพราะไม่ได้รู้จริงมาแต่ต้น

ธีรพร  เพชรกำแพง
คัดสำเนาเสริมเค้าความ