13 มิถุนายน 2557

ภาคคำนวณสุริยยาตร ... ทำอัตตากำเนิด

          หลังจากที่ได้เขียนตัวอย่างการคำนวณประกอบเนื้อหาในคัมภีร์สุริยยาตรตอนที่แล้ว ทำให้คิดว่าน่าจะทำเป็นบทความต่อเนื่องเพื่อการศึกษาเรียนรู้การคำนวณตามท้องคัมภีร์สุริยยาตร จะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีความสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้นในการศึกษาค้นคว้า ด้วยแหล่งข้อมูลในลักษณะนี้ค่อนข้างมีน้อยและอยู่ในวงจำกัด ฉันเองก็มิใช่ผู้เจนจบสามารถในศาสตร์แห่งนี้ แต่ด้วยเคยศึกษาพอประคองตนและเห็นประโยชน์จากการศึกษาว่าจะเป็นผลดีต่อบุคคลรุ่นใหม่ที่มีใจใฝ่เรียนใฝ่รู้ จะได้มีทางเลือกอีกแหล่งหนึ่งที่จะได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ส่วนเนื้อหาบทความก็จะนำมาเสนอแบบค่อยคิดค่อยทำไปเรื่อยๆ เพราะในช่วงที่ทำบทความอยู่นี้สุขภาพแย่ลงทุกขณะ จึงอาจจะขาดตอนเว้นช่วงระยะเวลาช้าไปบ้าง หรืออาจจะมีส่วนผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าก่อน กระนั้นก็จะพยายามทำออกมานำเสนอให้แก่ผู้สนใจได้อ่านกันต่อไป

ทำอัตตากำเนิด
(อัตตาประสงค์)

ถ้าจะหา อัตตากำเนิด คือ วันเกิดของบุคคลก็ดี หาวันปัจจุบันที่จะต้องการที่เรียกว่า "สุรทินประสงค์" ก็ดี ต้องนับแต่หน้าวันเถลิงศกไปถึงวันเกิด หรือ วันที่ต้องการทราบได้เท่าใด เรียกว่า สุรทินอัตตา แล้วเอา สุรทินอัตตา บวกด้วยหรคุณอัตตาเป็น "หรคุณกำเนิด" แล้วนับเดือนห้าเป็นต้นไป จนถึงเดือนเกิดได้เท่าใดบวกเข้ากับมาสเกณฑ์อัตตา เป็น "มาสเกณฑ์กำเนิด" แล้วตั้งสุรทินอัตตาลง เอา ๘๐๐ คูณ เอา กัมมัชพลอัตตาบวก เป็น "กัมมัชพลกำเนิด" ตั้งอุจจพลอัตตาลง เอา สุรทินอัตตาบวก เป็น "อุจจพลกำเนิด" ตั้ง หรคุณกำเนิด ลง เอา ๗ หาร เศษ เป็น "วารกำเนิด"
ตั้งสุรทินอัตตาลงเป็นสองฐาน ฐานบนเอา ๑๑ คูณ   ได้ลัพธ์เท่าใด เอาอวมานอัตตาบวก แล้วเอา ๖๙๒ หารเศษเป็น "อวมานกำเนิด" ลัพธ์ซึ่งหารได้นั้น เอาไปบวกสุรทินอัตตาฐานต่ำ แล้วเอาดิถีอัตตาบวกเข้าด้วย ได้ลัพธ์เท่าใด เอา ๓๐ หาร เศษเป็น "ดิถีกำเนิด" แล
ถ้าเอา ๖๙๒ หารมิได้โดยตัวตั้งน้อยกว่าตัวหาร จำนวนเลขที่หารไม่ได้นั้นคงเป็นเศษทั้งสิ้น เศษนั้นเป็น อวมานกำเนิดอยู่เอง และถ้าเอา ๓๐ หารมิได้ จำนวนเลขที่หารไม่ได้นั้นก็คงเป็นเศษและเป็น ดิถีกำเนิด ด้วย
อนึ่งถ้าคำนวณไปแล้ว เศษวัน ออกมิตรงกับดิถี ให้ถอยสุรทินอัตตาเข้ามาเสียตัวหนึ่ง เพราะว่าเมื่อเวลาเกิดนั้น ดิถียังไม่เต็มบริบูรณ์ จึงต้องถอยสุรทินเข้าหาเพื่อให้ได้ผลตรงกับความที่เป็นจริง

ตัวอย่าง คำนวณอัตตาประสงค์ วันที่ ๒๒ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ จุลศักราช ๑๓๗๖

อัตตาเถลิงศก ปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จุลศักราช ๑๓๗๖
หรคุณอัตตา                ๕๐๒๕๙๗
กัมมัชพลอัตตา            ๓๙๕
อวมานอัตตา               ๑๓๗
เกณฑ์อัตตา                ๑๗๐๑๙
ดิถีอัตตา                   ๑๗
อุจจพลอัตตา              ๑๐๑๖
วันเถลิงศก                 ๔


-สุรทินอัตตาจากวันเถลิงศกคือ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๗ จนถึงวันประสงค์ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จำนวน ๓๖ วัน
สุรทินอัตตา = ๓๖

-เอา สุรทินอัตตา บวกด้วยหรคุณอัตตาเป็น "หรคุณกำเนิด"
๓๖ + ๕๐๒๕๙๗ = ๕๐๒๖๓๓
หรคุณกำเนิด = ๕๐๒๖๓๓

-แล้วนับเดือนห้าเป็นต้นไป จนถึงเดือนเกิดได้เท่าใดบวกเข้ากับมาสเกณฑ์อัตตา เป็น "มาสเกณฑ์กำเนิด"
นับเดือนได้ ๑ เดือน
๑๗๐๑๙ + ๑ = ๑๗๐๒๐
มาสเกณฑ์กำเนิด = ๑๗๐๒๐

ตั้งสุรทินอัตตาลง เอา ๘๐๐ คูณ เอา กัมมัชพลอัตตาบวก เป็น "กัมมัชพลกำเนิด"
๓๖ x ๘๐๐ = ๒๘๘๐๐
๒๘๘๐๐ + ๓๙๕ = ๒๙๑๙๕
กัมมัชพลกำเนิด = ๒๙๑๙๕

-ตั้งอุจจพลอัตตาลง เอา สุรทินอัตตาบวก เป็น "อุจจพลกำเนิด"
๑๐๑๖ + ๓๖ = ๑๐๕๒
อุจจพลกำเนิด = ๑๐๕๒

-ตั้ง หรคุณกำเนิด ลง เอา ๗ หาร เศษ เป็น "วารกำเนิด"
                   ๕๐๒๖๓๓ ÷ = ๗๑๘๐๔ เศษ ๕
วารกำเนิด =

-ตั้งสุรทินอัตตาลงเป็นสองฐาน ฐานบนเอา ๑๑ คูณ   ได้ลัพธ์เท่าใด เอาอวมานอัตตาบวก แล้วเอา ๖๙๒ หารเศษเป็น "อวมานกำเนิด"
๓๖ x ๑๑ = ๓๙๖
๓๙๖ + ๑๓๗ = ๕๓๓
๕๓๓ ÷ ๖๙๒ = ๐ เศษ ๕๓๓
อวมานกำเนิด= ๕๓๓

-ลัพธ์ซึ่งหารได้นั้น เอาไปบวกสุรทินอัตตาฐานต่ำ แล้วเอาดิถีอัตตาบวกเข้าด้วย ได้ลัพธ์เท่าใด เอา ๓๐ หาร เศษเป็น "ดิถีกำเนิด"
+ ๓๖ = ๓๖
๒๖ + ๑๗ = ๔๓
๔๓ ÷ ๓๐ = ๑ เศษ ๑๓
ดิถีกำเนิด = ๑๓

สรุปการทำอัตตากำเนิด(ประสงค์) ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ได้ผลการคำนวณดังนี้
หรคุณกำเนิด                        ๕๐๒๖๓๓
มาสเกณฑ์กำเนิด                    ๑๗๐๒๐
กัมมัชพลกำเนิด                     ๒๙๑๙๕
อุจจพลกำเนิด                       ๑๐๕๒
อวมานกำเนิด                       ๕๓๓
ดิถีกำเนิด                            ๑๓
วารกำเนิด                           ๕

ธีรพร  เพชรกำแพง
๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗