5 มิถุนายน 2557

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน เกณฑ์ธาราธิคุณ


เกณฑ์ธาราธิคุณ
เมื่อกล่าวถึงเกณฑ์ “ธาราธิคุณ” ท่านใช้ในการคำนวณเพื่อทราบเป็นเกณฑ์ว่าในปีนั้นน้ำจะมากหรือน้อยเป็นประการใด โดยคำนวณหาเศษตกเกณฑ์ทั้ง ๔ คือ เตโช ปฐวี วาโย อาโป แล้วพิจารณาพยากรณ์ตามเกณฑ์ตกเศษที่ได้ และเศษยังบ่งถึงราศีเพื่อพิจารณาความเป็น ต้น กลาง ปลาย ของเกณฑ์นั้นๆ คือ ๐ เมษ , ๑ พฤษภ , ๒ มิถุน , ๓ กรกฎ , ๔ สิงห์ , ๕ กันย์ , ๖ ตุล , ๗ พิจิก , ๘ ธนู , ๙ มกร , ๑๐ กุมภ์ , ๑๑ มีน มีการคำนวณดังนี้

          ท่านให้ตั้งจุลศักราชปีประสงค์ลง แล้วเอา ๑๒ หาร ตราเศษเป็นเกณฑ์
หากเศษ ๐,๔,๘ ชื่อเตโช น้ำน้อย
หากเศษ ๑,๕,๙ ชื่อปฐวี น้ำอุดมสมบูรณ์ดี
หากเศษ ๒,๖,๑๐ ชื่อวาโย น้ำพอประมาณ
หากเศษ ๓,๗,๑๑ ชื่ออาโป น้ำมาก

ตัวอย่าง พุทธศักราช ๒๕๓๖ จุลศักราช ๑๓๕๕ นำ ๑๓๕๕ หารด้วย ๑๒ ได้ลัพธ์ ๑๑๒ เศษ ๑๑
เศษ ๑๑ คือราศีมีน เกณฑ์อาโป พยากรณ์ว่า น้ำมาก

ตัวอย่าง พุทธศักราช ๒๕๔๓ จุลศักราช ๑๓๖๒ นำ ๑๓๖๒ หารด้วย ๑๒ ได้ลัพธ์ ๑๑๓ เศษ ๖
เศษ ๖ คือราศีตุล เกณฑ์วาโย พยากรณ์ว่า น้ำพอประมาณ

ตัวอย่าง พุทธศักราช ๒๕๕๐ จุลศักราช ๑๓๖๙ นำ ๑๓๖๙ หารด้วย ๑๒ ได้ลัพธ์ ๑๑๔ เศษ ๑
เศษ ๑ คือราศีพฤษภ เกณฑ์ปฐวี พยากรณ์ว่า น้ำอุดมสมบูรณ์ดี

ตัวอย่าง พุทธศักราช ๒๕๕๗ จุลศักราช ๑๓๗๖ นำ ๑๓๗๖ หารด้วย ๑๒ ได้ลัพธ์ ๑๑๔ เศษ ๘
เศษ ๘ คือราศีธนู เกณฑ์เตโช พยากรณ์ว่า น้ำน้อย

หมายเหตุ : หากประสงค์จะทราบจุลศักราช ให้นำ ๑๑๘๑ ลบออกจากพุทธศักราช หลังจากวันเถลิงศกเป็นต้นมา คือประมาณหลังจากกลางเดือนเมษายน ฉะนั้นเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม จึงยังเป็นปีจุลศักราชก่อนหน้า

ธีรพร  เพชรกำแพง(บุญวงษ์)
๕ มิถุนายน ๒๕๕๗