17 มกราคม 2558

สิ่งละอัน..วันละน้อย (16 มกราคม 2558) #2

ถาม : นิรายานะคือระบบที่โหราศาสตร์สากลใช้ใช่มั้ยครับรวมทั้งระบบยูเรเนียน แต่ที่ยังงงคือระบบฟราแกนส์จะใช้เมื่อไรครับ

ตอบ : นิรายนะวิธี ที่กล่าวถึงในที่นี้คือขั้นตอนวิธีในการทำตำแหน่งดาวในระบบสายนะ(ส+อยน=เคลื่อนที่)เป็นแบบนิรายนะ(นิร+อยน=ไม่เคลื่อนที่,คงที่) จากหลักคิดในเรื่องของการตัดค่าอายนางศ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ประสานักคำนวณเรียกกันว่า "หลายค่าย" โดย Lahiri และ Fagan-Bradley ที่นิยมใช้ในบ้านเราก็เป็นหนึ่งในค่ายเหล่านั้นด้วยครับ
ลักษณะการคำนวณสมผุสปัจจัยต่างๆเราจะใช้สูตรการคำนวณทางดาราศาสตร์สากล(สายนะ) เพื่อให้ได้ตำแหน่งปัจจัยจริงบนท้องฟ้า ระบบยูเรเนียนก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้(แต่ดาวทิพย์นั้นมีวิธีการคำนวณต่างออกไปอีก) แล้วนำสมผุสที่ได้นั้นมาทำเป็นแบบนิรายนะด้วยวิธีการหักออกด้วยค่าอายนางศดังกล่าว โดยที่ค่าอายนางศก็จะมีค่าเพิ่มขึ้นทุกปี จนปัจจุบันนี้ค่าอายนางศแบบ Lahiri ไป 24.07 องศา และแบบ Fagan-Bradley ไป 24.95 องศาแล้ว
ยกตัวอย่างตำแหน่งอาทิตย์ทางดาราศาสตร์วันนี้ 16 มกราคม 2558 มีค่าเท่ากับ 295.801 องศา หากจะทำเป็นนิรายนะแบบลาหิรี ให้นำค่าอายนางศ 24.07 มาลบออก คงได้ 271.732 องศา เป็นค่าที่เราใช้เป็นตำแหน่งแบบนิรายนะแล้ว (หรือ 1 มกร 43) ขั้นตอนวิธีการทั้งหมดนี้เราเรียกว่า "นิรายนะวิธี" คือวิธีการให้ได้มาซึ่งตำแหน่งปัจจัยแบบคงที่

ส่วนระบบฟราแกนส์ที่ท่านกล่าวถึงนี้ผมไม่ทราบว่าหมายถึงอะไรน่ะครับ ก็ขออธิบายคร่าวๆอย่างนี้ก่อนครับ