9 ตุลาคม 2555

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน โคลงดิถีมหาฤกษ์

 
 
                     โคลงดิถีมหาฤกษ์

   ตรีจันทร์สรรพสิทธิ์เก้า                 ภุมเมนทร์
พุฒทัสทวาอัตถ์สุริเยนทร์               เลิศล้น
พฤหัสจตุรเกณฑ์                            ศุกร์ค่ำ หนึ่งนา
เสาร์ห้าสถาพ้น                               โชคใช้ ได้เสมอ

   สิบเอ็ดสุริยะเก้า                          วันครู
พุฒทัสสะสิบสองภู                       เมศล้น
จันทร์ห้าสี่เสาร์ชู                           สิทธิโชค
ศุกร์สิบเอ็ดค่ำถ้วน                        ผ่องแผ้ว ภัยพาล

   ศุกร์สิบเสาร์สิบห้า                      มหาวัน
สิบสี่สุริยฉัน                                  โชคใช้
พุฒสี่สิบสองจันทร์                       ครูเจ็ด
ภุมเมศสิบสามไซร้                       โชคชั้น วันมงคล

บทพิเคราะห์โดย ธีรพร เพชรกำแพง
 
          บุราณจารย์ท่านได้กำหนดวันฤกษ์ใหญ่ไว้ใช้ประกอบการ โดยอาศัยดิถีขึ้นแรม ซึ่งก็ยอมรับนับถือกันนักว่านำมาใช้แล้วได้ผลดี เพราะใจผู้ให้และผู้รับฤกษ์มีศรัทธาในฤกษ์นั้น ความพร้อมในการประกอบการอันเป็นมงคลนั้นๆอยู่แล้ว
          จากคำโคลงบทที่ ๑ จักเห็นได้ว่าดิถีมงคลที่ท่านจัดไว้ตามลำดับคำประพันธ์คือ วันจันทร์ ๓ ค่ำ วังอังคาร ๙ ค่ำ วันพุธ ๑๒ ค่ำ วันอาทิตย์ ๘ ค่ำ วันพฤหัสบดี ๔ ค่ำ วันศุกร์ ๑ ค่ำ วันเสาร์ ๕ ค่ำ โดยท่านกำหนดต่อท้ายคำโคลงว่า “โชคใช้ได้เสมอ” นับเป็นวัน “สรรพสิทธิ์ “ ประกอบกิจได้ทุกประการ
          ส่วนคำโคลงบทที่ ๒ จักเห็นได้ว่าดิถีมงคลที่ท่านจัดไว้ตามลำดับคำประพันธ์คือ วันอาทิตย์ ๑๑ ค่ำ วันพฤหัสบดี ๙ ค่ำ วันพุธ ๑๐ ค่ำ วันอังคาร ๑๒ ค่ำ วันจันทร์ ๕ ค่ำ วันเสาร์ ๔ ค่ำ วันศุกร์ ๑๑ ค่ำ โดยท่านกำหนดต่อท้ายคำโคลงว่า “ผ่องแผ้ว ภัยพาล” ท่านว่าเสมือนวัน “สิทธิโชค” สำเร็จกิจสมประสงค์เป็นอันดี
          และคำโคลงบทที่ ๓ สุดท้ายนี้ ท่านจัดดิถีมงคลที่ไว้ตามลำดับคำประพันธ์คือ วันศุกร์ ๑๐ ค่ำ วันเสาร์ ๑๕ ค่ำ วันอาทิตย์ ๑๔ ค่ำ วันพุธ ๔ ค่ำ วันจันทร์ ๑๒ ค่ำ วันพฤหัสบดี ๗ ค่ำ วันอังคาร ๑๓ ค่ำ และท่านยังกำหนดต่อท้ายคำโคลงว่า “โชคชั้นวันมงคล” ท่านเปรียบดุจวัน “มหาวัน” ประกอบการแลให้ผลที่ยิ่งใหญ่
สรุปคำประพันธ์ทั้ง ๓ บท ได้วันมงคล ๓ ประเภทตามคำโคลง ดังนี้


          ในเรื่องนี้ได้สืบเค้าโครงความตามท่านมา และได้นำมาใช้กรณีมิได้หาฤกษ์แบบเจาะจงลงวิถีจักราศีดวงดาวดวงเด่น ก็เห็นว่าใช้ได้ผลดี ทว่าต้นกำเนิดแต่เดิมมาท่านใช้พิจารณาหลักในการวางดิถีตามวันมงคลดังกล่าว นั้นอย่างไรไม่ทราบได้ มีระบุในบางส่วนแต่เพียงว่า “จันทร์ดิถีมีกำลังมิเสมอตามวาร” เท่านี้ คาดว่าบุราณจารย์ท่านต้องมีหลักคิดว่าวันใด ดิถีใด เป็นมงคลตามประสงค์ของท่านอยู่ก่อนแล้ว จึงนำมาพิจารณาวางเข้าหลักเข้าเกณฑ์ไว้
          อนึ่ง ในสายวิชาของฉัน เมื่อคนก็ดี กิจก็ดี โอกาสก็ดี(วัน,เวลา) สมพ้องต้องกันมาพร้อมแล้ว สมควรประกอบการพึงกระทำไปเถิด จะหาฤกษ์ด้วยวิธีใด ผลออกมาเป็นผลของฤกษ์ที่ชี้การกระทำ(กรรม) มิใช่อำนาจวิเศษจากฤกษ์นั้นเลย

...หากิจใช้ ได้วันดี มีโอกาสทำ... 

ธีรพร  เพชรกำแพง  
๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ 
๐๕.๓๐ น.