6 มีนาคม 2558

วิชาเก่าเล่าตำนาน ตอน ทิศดีแลร้ายประจำวาร

ทิศดีแลร้ายประจำวาร
          ได้เขียนเรื่องราวที่เป็นสมัยนิยมมามากพอสมควร ในครั้งนี้จะขอนำเอาเรื่องเก่าเล่าตำนาน มาไขความพอให้ได้สาระประโยชน์อันจะพึงมีตามทัศนะของท่านผู้อ่าน ว่ากันด้วยเรื่องทิศดีร้ายประจำวัน ว่าในวันใดจะมีทิศดีร้ายสมควรกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างไร ตามตำรานัยที่เกริ่นนี้เป็นตำราคัดมือมาอีกที จึงไม่อาจทราบได้ว่าต้นฉบับแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร แต่ด้วยสืบทอดจดจำและกระทำตามนี้เห็นว่าเป็นผลดี จึงหยิบจับมานำเสนอในทำนองเล่าสู่กันฟัง โดยเนื้อความตรับเดิมนั้นมีอยู่ว่า
          วันอาทิตย์นั้นไซร้ ท่านกล่าวไว้ตามตำหรับ ทิศพายัพนั้นไม่ดี ลาภจะมีอาคเนย์
ความว่า สำหรับวันอาทิตย์ ทิศที่ดีคือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้(อาคเนย์) ทิศที่ร้ายคือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(พายัพ)
          วันจันทร์นั้นไซร้ ห้ามไปทางบูรพา ฝ่ายประจิมทิศา ลาภจะมาดีนักแล
ความว่า สำหรับวันจันทร์ ทิศที่ดีคือ ทิศตะวันออก(บูรพา) ทิศที่ร้ายคือ ทิศตะวันตก(ประจิม)
          วันอังคารทิศอิสาณ แบบโบราณท่านนับถือ ทิศชั่วนั้นคือ หรดีจะมีภัย
ความว่า สำหรับวันอังคาร ทิศที่ดีคือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(อิสาณ) ทิศที่ร้ายคือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้(หรดี)
          วันพุธเป็นมงคล อยู่ทางหนทักษิณ ฝ่ายอุดรเป็นมลทิน ในถิ่นนั้นไม่ดี
ความว่า สำหรับวันพุธ ทิศที่ดีคือ ทิศใต้(ทักษิณ) ทิศที่ร้ายคือ ทิศเหนือ(อุดร)
          ถึงคราววันพฤหัส ลาภจะขัดอาคเนย์ ท่านให้เตร่ทางพายัพ จะได้รับลาภสักการ์
ความว่า สำหรับวันพฤหัสบดี ทิศที่ดีคือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้(อาคเนย์) ทิศที่ร้ายคือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(พายัพ)
          วันศุกร์ท่านว่า บูรพาเป็นดี อย่าได้จรลี ถิ่นที่ทิศประจิม
ความว่า สำหรับวันศุกร์ ทิศที่ดีคือ ทิศตะวันออก(บูรพา) ทิศที่ร้ายคือ ทิศตะวันตก(ประจิม)
          วันเสาร์ทิศอิสาณ ท่านไม่ใช้ ให้เร่งไปหรดี จะมีคุณ ฯ
ความว่า สำหรับวันเสาร์ ทิศที่ดีคือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้(หรดี) ทิศที่ร้ายคือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(อิสาณ)
          ในตำราตรับเก่าท่านกำหนดทิศดีร้ายประจำวันไว้อย่างนี้ ไม่เป็นที่ทราบชัดว่าท่านกำหนดขึ้นมาจากอะไรเป็นมูลฐานสำคัญ เพราะเมื่อนำหลักทักษาเรื่องทิศที่คิดว่าจะเกี่ยวข้องมากที่สุด ก็ไม่อาจจับความได้สิ้น เพราะยังมีความแตกต่างกันอยู่ เคยได้เรียนถามท่านถึงการใช้ ท่านว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการจดจำกระทำสืบต่อกันมาอย่างมี “สติ” ท่านเปรียบว่าคนเรานั้นเมื่อพ่อค้าเมื่อจะไปทำการค้าในที่แห่งใด ย่อมต้องตรึกตรองถึงแหล่งสถานที่จะไปนั้น เป็นการตระเตรียมความพร้อมและเพิ่มความระมัดระวังตัว อุปมาดังพ่อค้าข้าวจะไปค้าขายในวันพุธ ซึ่งระบุว่าทิศที่ดีคือทิศใต้และทิศที่ร้ายคือทิศเหนือ เมื่อคิดได้ว่าจำเป็นต้องไปในทิศที่ร้าย จึงตรึกตรองดูว่าในแหล่งสถานที่ทิศนั้นเป็นอย่างไร หากเป็นที่แห้งแล้งแร้นแค้น เมื่อไปข้าวคงจะขายได้ดี แต่ถ้าคนไม่มีทรัพย์จะซื้อก็จะเกิดการปล้นสะดมกันได้ ควรจะมีนักเลงหัวไม้ไปไว้ป้องกันตัวจากโจรผู้ร้ายด้วย อย่างนี้เป็นต้น คือท่านสอนให้ใช้อย่างมี “สติ” จะทำการใดให้ตรึกตรองป้องกันหรือเสริมเพิ่มเติมให้เท่าทันอันจะเกิดประโยชน์สวัสดิภาพตามมา และในที่สุดนี้ขอทิ้งท้ายไปด้วย คาถาหาลาภ ในการเดินทางต่างๆ ดังนี้
โอม พระนเรศอยู่ซ้าย พระนารายณ์อยู่ขวา พระพรหมอยู่หน้า พระอินทร์อยู่หลัง ศัตรูจังงังวินาสสันติ
(ว่าสามหน)
ขอความเจริญสุขวัฒนะทางโหราศาสตร์จงมีแก่ทุกท่านเถิด

ธีรพร  เพชรกำแพง

๗ มีนาคม ๒๕๕๘