4 กันยายน 2555

พระศุกร์นี้เล่า..เมื่อเจ้าวิกลคติ


พระศุกร์นี้เล่า..เมื่อเจ้าวิกลคติ
โดย  ธีรพร  เพชรกำแพง
๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๕
...ครั้นมาถึงพระศุกร์วิกลคติเข้า มี พักร มณฑ์ เสริด เป็นอันดี ท่านให้มีความหมายถึง ปัญหาการเงิน ความรัก ความสมบูรณ์พูนพร้อมของชีวิตที่สมควรจะเป็น รวมถึงการแสวงหา การมุ่งกระทำ ผลสำเร็จ ตามนัยความหมายแห่งศุกร์ ทั้งโดยเจ้าพระศุกร์เองและสมญาความหมายที่ทำหน้าที่ ล้วนแต่ให้มีความวิปริตวิปลาสณาการคลาดเคลื่อนไปจากความที่ควรจะเป็นอยู่เดิม
                  
...ยกตัวอย่างเช่น การเงินฝืดพร่อง ขาดความคล่องตัวทางด้านการจับจ่ายใช้สอย การหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านเงินหรือการบริหารจัดการตนขาดความรอบคอบทำให้มีผลเสียหาย , ความรักที่มีผลแปรปรวน ตีรวนไม่เข้าอกเข้าใจกันอย่างเดิม ความขึ้นๆลงๆทางความรัก , ชีวิตทำอะไรมักขาดๆเกินๆ ความสอดคล้องสมดุลในชีวิตพร่องลงไป ความราบรื่นไม่ปรากฏต่อการที่จะกระทำ , ขาดความเป็นที่เมตตารักใคร่ เสน่ห์ในตัวลดน้อยถอยลง การสนับสนุนให้ความร่วมไม้ร่วมมือต่างๆไม่เป็นไปดังใจปรารถนา , โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่ประสานกับระบบการทำงานของประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ,ส่วนใจนั้นไปในอาการหลงด่ำต่ำลงในอารมณ์ที่สุขจากของภายนอกเพียงชั่วคราว การไม่สามารถที่จะมุ่งจิตให้เป็นกลางเพราะอำนาจริตด้านเสียของศุกร์ชักนำให้ติดสุขหรือทุกข์(จากศุกร์)ไปในด้านใดด้านหนึ่ง

           ...พระศุกร์นั้นโบราณท่านให้พิจารณาว่า "กิเลสสมบัติ" ในที่นี้เราพึงแยกออกเป็นสองความหมาย คือ กิเลส ๑ และ สมบัติ๑ คือให้พิจารณาว่าสิ่งที่เป็นเรื่องของนามธรรมคือจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกอย่างหนึ่ง และสิ่งที่เป็นรูปธรรมสิ่งที่จับต้องมองเห็นได้คือวัตถุธรรมที่ปรากฏอยู่ทั่วไปนี้อย่างหนึ่ง และท่านให้พิจารณาพระศุกร์ถึงการแสดงออกถึงการตัดสินในคุณค่า(เหตุที่ศุกร์ธาตุน้ำ) เพราะฉะนั้นรวมความว่า พระศุกร์เป็นเรื่องของการติดสินคุณค่าในสิ่งที่เป็นการให้ความหมายในเหตุที่วิกลคตินั้น ย่อมเกี่ยวข้องกับการประเมินคุณค่าด้วยรูปธรรมและนามธรรมของชีวิต เมื่อเกิดความวิกลคติ คือ วิปริต วิปลาส แปลก แตกต่างไปจากเดิม ความหมายที่ได้จากการแปลคุณค่าในสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมนั้นก็ย่อมมีความเปลี่ยนไปด้วย ตามอำนาจการวิกลคตินั้น(พักร มณฑ์ เสริด) โดยมติบุราจารย์ในสมัยก่อนนั้นเป็นกลางกับการวิกลคติของดาว คือ การให้ความหมายเป็นไปในลักษณะดีก็ได้ร้ายก็ได้ มิได้ยึดติดลงไปว่าต้องเป็นเรื่องร้ายไปเสียทั้งหมด "ท่านให้มองว่าในความดีนั้นยังมีความร้าย ประสาอะไรความร้ายเสียเลยจะไม่มีดีบ้าง" อย่างเช่นว่า ความหมายหนึ่งของศุกร์วิกลคติมีว่า ความรักเสียหาย เกิดปัญหากับคนรักคู่ครอง หากเรามองแต่ปัญหาวิกลคติที่ว่านี้ก็ทำให้ทุกข์ แต่หากเรา "ประเมินคุณค่า" ของเรื่องราวความรักของตนเองที่ผ่านมานั้นจะทำให้เราทราบชัดแจ้งถึง "ผลแห่งคุณค่า" นั้น และสามารถที่จะ "ประเมินทางเลือก" เรื่องราวความรักให้กับชีวิตได้ (เลือกที่จะเป็นอยู่อย่างเดิม เลือกที่จะแก้ไขปัญหา เลือกที่จะวางเรื่อง เลือกที่จะยกเลิกแยกย้ายต่างคนต่างไป) อย่างนี้เป็นต้น หรือคนที่พร่องทางการเงินอย่างคนหาเช้ากินค่ำนั้นเขาเงินทองไม่ค่อยมี แต่มี"คุณค่า"ของชีวิตที่มุ่งกระทำงาน ถึงทำงานแล้วได้เงินน้อย วันไหนไม่ได้ทำงานที่หนักที่เหนื่อยเหงื่อไม่ไหลไคลไม่ย้อย วันนั้นประเมินค่าตนเองแล้วว่าไม่มีความสุข

          ...กรณีอย่างนี้บุราณจารย์ทางโหราศาสตร์ไทยเดิมนั้นท่านสังเคราะห์เป็นกลางไว้ดีแล้ว ว่าทั้งสองกรณีนั้น สุข เป็นอย่างไร ทุกข์ เป็นอย่างไร อย่างเรื่องแรกปัญหาจากความรักนั้นเป็นทุกข์ แต่ความสุขคือการได้ประเมินคุณค่าความรักแล้วเลือกกระทำในสิ่งที่ดีกว่า เรื่องที่สองความทุกข์คือความจนไม่ค่อยมีเงิน แต่ความสุขคือการได้ใช้คุณค่าที่ตนเองมีคือการทำงานหาเงิน(คนจนเรานั้นทำงานหนักแทบตายได้เงินเล็กๆน้อยๆก็ดีใจมหาศาลแล้ว)นี่ก็นับว่าเป็นความสุข หรือจะนึกถึงนักกีฬาถ้าไม่ลงสนามลงไปเหนื่อยนักกีฬาเขาจะมีความสุขดีอยู่หรือ?

          ...ต้องแยกให้เห็นชัดให้ดีว่าเราตีความหมายของท่านนั้นออกหรือไม่ หากจับแค่เพียงเปลือกเพียงกระพี้ก็จะได้ผลไม่ถึงแก่น การวิกลคตินี้ก็เช่นกัน การส่งผลความหมายจากดาวเป็นไปตามลักษณาการที่วิกลคตินั้น(เร็ว ถดถอย,ช้า อยู่กับที่,พุ่ง มุ่ง เร็ว) ผลที่ได้ก็ย่อมมีสองด้านเสมอ อย่าได้ตัดสินสิ้นลงไปอย่างหนักหน่วงว่า "วิกลคติต้องเสียหาย" เท่านั้น วิกลคตินั้นเป็นเรื่องการโคจรของดาว แต่เหตุปัจจัยความหมายที่ได้พึงพิจารณาแยกออกมาให้เห็นเป็นสองด้านแล้วสอบทานเข้ากับรูปดวงที่เราพิจารณาอีกที..สรุปไว้เป็นประเด็นเล็กๆว่า วิกลคติเป็นเรื่องการโคจรของดาว มิใช่การโคจรหรืออโคจรของความหมาย...นี้จึงเป็นเหตุสมควรd

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นทัศนคติความรู้เล็กๆที่ประสงค์จะมุ่งแสดงออกถึงความภูมิใจในชาติภูมิแห่งโหราศาสตร์ไทยเท่านั้น