5 กันยายน 2555

๕ ๗ เจ้าสมญาพิจารณาโชคเคราะห์ ตอน โชคเคราะห์ในดวงเดิม


๕ ๗  เจ้าสมญา

พิจารณาโชคเคราะห์

ตอน โชคเคราะห์ในดวงเดิม

ธีรพร  เพชรกำแพง

เวลาสรุปเป็นคำพยากรณ์เราจะไม่นำความหมายเหล่านั้นมาชั่งน้ำหนักแล้วทอนคุณทอนโทษกันและกัน อย่างที่บอกว่า โชคส่วนโชค เคราะห์ส่วนเคราะห์ ย่อมให้ผลได้เสมอกันไม่มีการลดทอนกันเอง
สุริยคติวันอาทิตย์ ที่ ๒๓ เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ เวลา ๖.๒๗ นาที เชียงใหม่
จันทรคติวันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๓๕๕ อธิกมาส
          กัลยาณมิตรอันเป็นที่รัก เคยได้กล่าวถึงการพิจารณาโชคเคราะห์จากดาวใหญ่ทั้งสองดวงตามแบบโบราณคือ ๕ และ ๗ ซึ่งเรานำมาใช้ประกอบการอ่านดวงจรกันแล้ว ในครั้งนี้จะได้นำเอาหลักการเดียวกันนี้พิจารณา โชคเคราะห์ ในดวงเดิมหรือจะเรียกว่า โอกาส-อุปสรรค อันมีอยู่ในชะตากำเนิดแล้วจักเชื่อมโยงเกี่ยวพันไปถึงดวงจรด้วย ในการพิจารณาดวงเดิมนั้นจำเป็นอยู่แล้วที่จะต้องพิจารณาตัวตนเจ้าชะตาจาก ลัคนา ตนุลัคน์ ตนุเศษ อาทิตย์ จันทร์ ฯลฯ เพื่อให้ทราบความเป็นไปในชีวิตของเจ้าชะตา ซึ่งกัลยาณมิตรนักโหราศาสตร์พึงได้พิจารณาเป็นกิจอยู่แล้ว จึงไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอพุ่งมุ่งตรงลงประเด็นในการพิจารณาตามสมญาลักษณ์ที่โบราณท่านใช้ดูโชคเคราะห์ คือ ๕ และ ๗ กันเลยทีเดียว โดยเหตุท่านตั้ง..จะทายโชคให้ดู ๕ จะทายเคราะห์ให้ดู ๗ ซึ่งเราก็เอามาพิจารณาพื้นดวงเดิม คือ ใช้ ๕ ดูโอกาส จุดเด่น จุดดี , ใช้ ๗ ดูอุปสรรค จุดด้อย ข้อบกพร่อง นี้เป็นสมญาวิชาที่ท่านให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ดีร้ายไว้เป็นระบบโหราศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงกับทางเดิม เพราะเอาความหมายพฤติการณ์ดาวมาเป็นสมญา เวลาใช้จึงไม่ขัดเขินใจนัก (แต่ก็อย่าเข้าใจว่าเป็นเนื้อเดียวกัน)
          เริ่มปักหลักที่ ๕ เดิมในดวงชะตา สถิตราศีกันย์(ประ) เรือนปุตตะ แสดงว่าโชคหรือโอกาสของเจ้าชะตาต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ เจ้าชะตาจะมีความเด่นในการปฏิบัติ การลำดับขั้นตอนของชีวิต(กันย์) การแสดงออกทางบุคลิกภาพ การกระทำให้เป็นที่ประจักษ์(ปุตตะ) โดยการนั้นจะต้องเป็นที่ไม่ปกติดังทั่วไป คือโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ หรือกระทำการอย่างใดมากกว่าปกติ(๕ ประ) ลองดูทางเรือนเพื่อสืบความในฐานที่ ๕ มาปักหลักพิจารณาโชคตรงนี้ ได้ความว่า ๔ เจ้าเรือนปุตตะ ไปสถิตเรือนตนุ ส่วน ๖ ตนุลัคน์ไปสถิตเรือนลาภะ
          ๔ เจ้าเรือนปุตตะ การลงทุน การศึกษา การพัฒนาสมองความคิด ไปสถิตเรือนตนุที่มี ๑,๒ ร่วมอยู่ หมายถึงร่างกายและอารมณ์ก็ได้รับการพัฒนาด้วย สะท้อนถึง ๖ ตนุลัคน์สถิตเรือนลาภะ อ่านขยายถึงความสำเร็จ ความราบรื่น หากพยากรณ์ให้สมตามวัยนี้ ควรจะได้ว่า เจ้าชะตามีโอกาสหรือโชคทางด้านการเรียนการศึกษาเพื่อพัฒนาสติปัญญาตนจนประสบความสำเร็จ นั่นเอง (ซึ่งในช่วงวัยทำงานให้พิจารณา ๔ นั้นในความหมายกดุมภะอีกทางด้วย)
พิจารณา ๕ โชคที่ว่านี้ย่อมต้องมาจากการลงมือปฏิบัติ การใช้ความคิดร่วมกับการกระทำ เหนื่อยกับการใช้ความคิดใหญ่จำกัดงานให้แคบลง(กันย์,๕ ประ) ต้องเผชิญกับการจัดตนเองให้ถูกสัดถูกส่วนเข้ากับลักษณะงานที่ไม่ค่อยคงเส้นคงวานัก(๕ เล็ง ๖) การกระทำหรือกิจกรรมนั้นจะได้รับการส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จจากบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อนร่วมงาน สิ่งแวดล้อมและหมู่คณะอันเป็นมิตร(๓ โยกหลัง ๕ , ๘ โยกหน้า ๕) เรียกว่ามีความเป็นสหายุตภาวะ คือสามารถที่จะพึ่งพาอาศัยมิตรสหายคนรอบข้างได้ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเจ้าชะตาที่มีการกลั่นกรองความคิดความอ่าน การพูดการกระทำแสดงออก เกินวัยไปในทางที่ดีเป็นที่รักของบุคคลทั่วไป(๑,๒,๔ ร่วมธาตุ ๕) เจ้าชะตาจะต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนความรู้ ทักษะ สิ่งแวดล้อมหรือประสบการณ์ใหม่ๆอยู่ตลอด(๐ เกณฑ์ ๕) และอีกเรื่องซึ่งจะโยงมาเกี่ยวข้องกับเรื่องโชคหรือโอกาสก็คือ การพิจารณา ๗ หรือการทายเคราะห์ อุปสรรค อันจะมีผลทานกันในเรื่องของความเป็นโชคเป็นเคราะห์นี้เอง แต่ในทีนี้จะขอแยกให้เห็นเป็นประเด็นไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน แล้วเอามาตีค่าหาชั่งว่าจะเหลือร้ายเหลือดีเท่าไร การทำอย่างนั้นถือว่าไม่สมควร เพราะโชคก็ส่วนโชค เคราะห์ก็ส่วนเคราะห์นั้นเอง
๗ สถิตราศีกุมภ์ เรือนกัมมะ เป็นตนุเศษด้วย เมื่อเราตั้งสมญาเคราะห์ให้กับ ๗ แล้วจะเห็นว่าเคราะห์หรืออุปสรรคของเจ้าชะตานั้นจึงต้องเกี่ยวข้องกับเรือนกัมมะ คือเรื่องของการงานนั้นเอง ส่วนจะเป็นไปในทิศทางไหนพึงค่อยๆพิจารณาไปตามลำดับ
๘ คือเจ้าเรือนกัมมะ สถิตเรือนปัตนิ ๓ เจ้าการปัตนิก็สถิตในสหัสชะ แนวโน้มเรื่องการงานของเจ้าชะตาโดยอ่านทางเรือนมีอยู่ว่า กัมมะ-ปัตนิ-สหัสชะ การงานที่ทำแบบมีส่วนร่วมจากสิ่งแวดล้อม(คน เวลา ทรัพยากร สถานที่) หากนำรูปดาวเข้าพิจารณาด้วยจะเป็นว่า ๘ กัมมะ(อุจ)- ๓ ปัตนิ(นิจ)-สหัสชะ  การงานที่ต้องมีผู้ร่วมมาก แต่หาผู้กระทำได้น้อย หรือ การร่วมงานใหญ่ที่คนสนับสนุนน้อย นี่คือความหมายเรื่องการงานที่ยังไม่ได้ระบุไปในทางดีหรือทางร้าย ต่อเมื่อเรานำ ๗ เคราะห์/อุปสรรคมาจับในเรือนกัมมะ จึงพิจารณาตามสมญาเหตุไว้จากทางเรือนประการหนึ่ง และอีกประการคือโดยสภาพแห่ง ๗ ที่เข้ามากระทำนั้นเองด้วย
ปัญหาอุปสรรคของเจ้าชะตาคือเรื่องของการงาน การสร้างสมความเป็นอยู่ การพัฒนาคุณภาพชีวิต(๗ ในเรือนกัมมะ) ที่จะต้องใช้สติปัญญาไหวพริบ การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและมุ่งกระทำให้ทันกาลสมัยอยู่ตลอด(กุมภ์) อันเป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ใช้วิธีการเฉพาะที่มีผู้กระทำได้น้อยในการทำงาน (สรุปจากย่อหน้าที่แล้ว) ซึ่งมักจะติดขัดในเรื่องของผู้ร่วมงานที่ขาดความรู้ความเข้าใจ การสื่อสารแสดงออกทางอารมณ์หรือความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน(๑,๒,๔ เกณฑ์(หน่วง) ๗) ความสำเร็จในงานมักมีความล่าช้า พอเริ่มจะเข้าที่เข้าทางก็มักมีความเปลี่ยนแปลงไป เป็นความสำเร็จที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก (๓,๕ ก่ออุปสรรค ๗)
หากจะมอง ๗ ตนุเศษในแง่ที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคด้วย คือเรื่องความมั่นคงทางจิตใจของเจ้าชะตาต่อการงานที่มีความอดทนมุ่งมั่นเป็นพักๆและไม่ชอบการถูกจำกัดทางด้านความคิดและการกระทำ(ลมกลางธาตุ) ข้อดีคือการไม่ละความพยายามในการคิดแก้ไขปัญหาทางการงานจนกว่าจะประสบความสำเร็จ เรียกว่าไม่วางธุระนั่นเอง
ทีนี้เวลาสรุปเป็นคำพยากรณ์เราจะไม่นำความหมายเหล่านั้นมาชั่งน้ำหนักแล้วทอนคุณทอนโทษกันและกัน อย่างที่บอกว่า โชคส่วนโชค เคราะห์ส่วนเคราะห์ ย่อมให้ผลได้เสมอกันไม่มีการลดทอนกันเอง เพราะนี่เป็นพื้นดวงจึงขึ้นอยู่กับ เวลา ว่าจะเกิดเหตุการณ์เมื่อไร เงื่อนไขในขณะนั้นจะเป็นตัวบอกความหนักเบาและความหมายว่าจะเป็นอย่างไร เงื่อนไขเดิมจะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงไรหรือไม่เกิดเลย ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขขณะที่เราพิจารณานั้นด้วยนั่นเอง
โชคเคราะห์ตามพื้นดวงเดิมของเจ้าชะตาพอสรุปคำพยากรณ์ได้ว่า เจ้าชะตามีโอกาสหรือโชคในเรื่องของการเรียนการศึกษาในวัยนี้ หากวัยต่อไปคือเรื่องของการลงทุนการสร้างสมคุณค่าฐานะความเป็นอยู่ การได้รับความอุปถัมภ์ค้ำชูจากการเป็นคนมีความคิดความอ่านอันเป็นที่รัก ส่วนอุปสรรคนั้นเนื่องด้วยการงานที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะของเจ้าชะตาที่ไม่สมกับลักษณะงานที่เกินตัว หากเจ้าชะตาคิดแก้ปัญหาเป็นลำดับขั้นและเอาใจใส่ไม่วางธุระ อุปสรรคในงานนั้นก็จะสำเร็จลงได้ อีกประการพองานจะมีความมั่นคงก็มักจะมีความหวั่นไหวให้ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
จากการพิจารณานี้ทำให้เราเห็นโชคเคราะห์ในดวงเดิม หรือที่เรียกว่า โอกาสและอุปสรรค โดยการพิจารณาจากดาวใหญ่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประธานพระเคราะห์ด้านดีและร้าย คือ ๕ ๗ เพื่อให้เห็นความเป็นไปในพื้นดวงของเจ้าชะตา พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ในการพิจารณาดวงจร อนึ่งเราจะเห็นว่าโบราณท่านวาง ๕ ๗ ของท่านลอยไว้เฉยๆแล้วประกอบสมญาดีร้ายเข้ากับนัยแห่งลักษณะดาว การดึงเอาความหมายอื่นมาเพิ่มจึงเป็นไปเพื่อการขยายเท่านั้น ไม่ควรนำมาประกบจนเสียรูปความหมายสมญานั้นไป เพราะหลักที่ท่านตั้งนี้ก็คือ ระบบโหราศาสตร์ ที่แยกจากโหราศาสตร์แต่มีความแนบเนียนใช้เข้ากันได้อย่างดี หลักการสร้าง ระบบ ก็มีอยู่ว่า มี ดี เป็น คือเชื่อว่ามีอยู่ ใช้แล้วดี เป็นผลตามนั้น เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลาย เวลาจะใช้ระบบโหราศาสตร์พึงพิจารณาถึงที่มาที่ไป หลักคิด ความเข้ากันได้ โหรโบราณเก่าก่อนท่านถึงย้ำสติอยู่เสมอว่า ให้นึกถึงความเป็นเหตุเป็นผลเข้าไว้
ขอความสุขจงเกิดมีแก่เจ้าชะตา และกัลยาณมิตรอันเป็นที่รักทั้งหลาย ขอจิตจงประดับด้วยสติปัญญา มีความผาสุกสวัสดิ์มั่นคงในการดำเนินชีวิต ประสบกับสิ่งดี คนดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี สร้างบารมีของตนสืบต่อไปเถิด d