...ตอนนี้มีชื่อว่า “ใส่ใจดาวเล็กบ้าง” เรื่องราวจากภาพเราจะเห็นดาวเล็กสามดวงกำลังทักท้วงดาวใหญ่ทั้งหลายให้ใส่ใจ ตนบ้าง ดาวเล็กในภาพมี จันทร์(๒) พุธ(๔) ศุกร์(๖) และดาวใหญ่ พฤหัส(๕) เสาร์(๗) ราหู(๘) จากภาพต้องการสื่อให้เห็นหลักวิชาโหราศาสตร์ คือ
๑.การ พิจารณาดวงจร เราใช้ดาวใหญ่ คือ พฤหัส(๕) เสาร์(๗) และราหู(๘ ปัจจัยคล้ายดาวที่อนุเคราะห์เรียกว่าดาว) เพื่อจับภาพความหมายเหตุการณ์สำคัญในพื้นดวงจร แล้วใช้เป็นปัจจัยกำหนดดีร้ายตามสมญาความหมายเชิงสัญลักษณ์ของระบบดวงจร ต่างๆ เช่น ๕ ๗ เจ้าสมญาโชคเคราะห์ , ลัคนาจรหรือชันษาจรที่มีการตั้งเรือนจรแล้วแทนความหมายตามเรือนนั้น , ตรีเทพ , ทักษาจร , กาลจักรลัคน์จร , อินทภาสบาทจันทร์ เป็นต้น ซึ่งสามดาวใหญ่นี้จะต้องได้รับสมญาความหมายดีร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง เสมือนเป็นหมุดปักสำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพความหมายดวงจรขณะนั้น แล้วจำกัดลงให้แคบชัดเข้าด้วยดาวเล็กต่างๆ คือเห็นภาพความหมายด้วยเงื่อนไขทางดาว (อันมีเรือน,ราศีให้พิจารณา) และจำกัดให้แคบเข้าเป็นเงื่อนไขเวลา เราจึงจะได้ความหมายทางโหราศาสตร์ที่ว่าด้วย เวลา เหตุการณ์ สถานที่ อย่างนี้เป็นต้น (เงื่อนไขเวลา = ระยะเวลาการโคจรของดาวที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องราวในขณะนั้น)
...๒.เราจะเห็นว่า ดาวใหญ่และดาวเล็ก จากภาพนั้นเป็น “คู่ศัตรู” กัน ตามกลอนที่ว่า อาทิตย์ผิดอังคาร พุธพาลวิวาทราหู ศุกร์เสาร์เสี้ยนศัตรู จันทร์กับครูไม่ถูกกัน ที่ไม่ได้ยกมาก็เห็นจะเป็นอาทิตย์ผิดอังคารเท่านั้น แต่เพื่อให้ทราบว่าการพิจารณานั้นเราต้องทราบความหมายอันเป็นไปของดาว ร่วมกับความหมายทางอาการของดาว(คือความเป็นมิตร ศัตรู)นั้นด้วย เช่น
...พฤหัส คือ ความขยับขยาย เจริญ เติบโต เป็นศัตรูกับ จันทร์ ที่เป็นการปกป้อง ดูแลรักษา ทำให้คงสภาพ
...เสาร์ คือ ทุกข์ จำกัด อุปสรรค เป็นศัตรูกับ ศุกร์ คือ สุข เหลือเฟือ ราบรื่น
...ราหู คือ ความลุ่มหลง ครอบงำ สัมพันธภาพเชิงประโยชน์ เป็นศัตรูกับ พุธ คือ สติ รอบรู้ สัมพันธภาพเชิงพึ่งพาอาศัย
...การพิจารณาทางโหราศาสตร์เราพิจารณา “ให้เสริมกัน” ทั้ง คู่มิตร-คู่ศัตรู (และอื่นๆ) อย่างที่นี้เราพิจารณาคู่ศัตรู หากเราจะดูความทุกข์(เสาร์) เราก็ต้องพิจารณาความสุข(ศุกร์)ของเขาด้วย คนเราจะรู้จักสุขก็ต่อเมื่อผ่านทุกข์ จะรู้จักทุกข์ก็ต่อเมื่อผ่านสุข จะขยับขยายเจริญก้าวหน้า(๕)ก็ต่อเมื่อรู้สภาพความคงที่ของตน(๒) จะได้สัมพันธภาพเชิงประโยชน์(๘)ก็ต่อเมื่อมีสัมพันธภาพเชิงเอื้อเฟื้อต่อ กัน(๔) เป็นต้น อย่างนี้คือการพิจารณาให้เสริมกันทั้งที่เป็นความหมายคู่ศัตรู เราไม่นิยมความหมายในเชิงหักล้างเพราะจะทำให้ตันความหมาย และไม่ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงของดวงชะตา ถ้าดาวมันหักล้างทำลายกันจริงเราก็คงตายไปแล้วเพราะดาวมันก็หักล้างกันอยู่ บ่อยๆ ฉะนั้นการดูดวงก็ต้องพิจารณาสิ่งที่เป็นสองด้านแห่งสมดุลไว้ด้วย และการอ่านเชิงเสริมหรือหักล้างในที่นี้เป็นคนละเรื่องกับความหมาย ดี-ร้าย ได้-เสีย ซึ่งเป็นความหมายทางการพยากรณ์ที่ได้จากการพิจารณา “เสริมกัน” นั้นอีกที เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนถึงต้องกำกับให้ดูดาวโน้นดาวนี้ร่วมด้วย เพื่อให้ “สมดุล” กัน แต่ศิษย์ก็มัวไปจับว่าท่านบอกอย่างนั้นคงจะเป็นเคล็ดวิชาเป็นแท้ก็จดจำไว้ แค่นั้น
...ฉันก็หวังเพียงว่าความรู้เล็กๆที่ถ่ายทอดนำเสนอทาง ‘ตูนโหน นี้จะพอเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายผู้ชื่นชมนิยมโหราศาสตร์ได้บ้าง อย่างที่บอกว่าอย่างน้อยก็สะกิดใจให้ได้คิด ส่วนหลักวิชานั้นท่านจะเห็นผิดถูกอย่างไรไปจากฉัน ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณอันตระหนักชัดของท่านเป็นเครื่องพิจารณา “มีดดีจะมีค่าอยู่ที่ว่าคนรู้จักใช้” แล้วพบกันในโอกาสต่อไป
ธีรพร เพชรกำแพง